ทุ่งใหญ่ฯ ด้านตะวันตก บทพิสูจน์ความตั้งใจดีของออฟโรด
กฤษณะ แก้วธำรงค์...เรื่อง นพดล กันบัว...ภาพ
ทุ่งใหญ่นเรศวร ถือได้ว่าเป็นป่าที่มีชื่อเสียงค่อนข้างมากทั้งในอดีตจนถึงปัจุบัน เป็นข่าวใหญ่โตในหลายด้านหลายมุม ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลก โดยผนวกห้วยขาแข้งเข้าไปด้วย เพราะเป็นป่าผืนดียวกัน ที่สำคัญ อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก เวลาจะเข้าทุ่งใหญ่ฯ ต้องใช้รถสองเพลา สมัยนี้เรียกว่ารถขับเคลื่อนสี่ล้อ หรือให้อินเทรนด์หน่อยต้องออฟโรด
สำหรับการเดินทางมาทุ่งใหญ่ฯ ก่อนเดินทางผมทำหนังสือขออนุญาตแจ้งวัตถุประสงค์ในการเข้าพื้นที่ โดยมีกองถ่ายสารคดีของบริษัทพาโนรามา เวิลด์ ไวด์ จำกัด เดินทางเข้าไปถ่ายทำด้วย และแวะปรึกษาขอคำแนะนำในการเดินทางเข้าทุ่งใหญ่กับหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร คุณเอิบ เชิงสะอาด ที่เมืองกาญจน์ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันหลายประเด็น มีหลายเรื่องครับที่ต้องช่วยกันนำไปเผยแพร่ จะว่าไปแล้ว เมื่อสัก ๑๕ ปีก่อน ผมเดินทางเข้าทุ่งใหญ่ฯ ประมาณเดือนละครั้ง ขับรถตะเวนไปทุกหน่วย บางทีก็ขับรถเข้าทางหน่วยพิทักษ์ป่าสเนพ่อง แล้วไปออกหน่วยฯ ทินวย วนไปมา กิจกรรมก็แค้มปิง กางเต็นท์นอนริมห้วย ดูนก ส่องสัตว์ มาถึงยุคปัจจุบันรถออฟโรดได้รับความนิยมมาก ขายดีเหลือเกิน เป็นธรรมดาคนที่มีรถออฟโรดก็อยากจะทดสอบประสิทธิภาพรถ หรือไม่ก็อาจจะมีไว้เพื่อบุกป่าฝ่าดง ผจญภัยท่องธรรมชาติ หลีกหนีจากความจำเจในเมืองกรุง
จากเมืองกาญจน์ ผมขับรถไปอำเภอทองผาภูมิ ระหว่างทางก่อนถึงทองผาภูมิ เห็นชาวบ้านเอาเห็ดมาขาย เลยจอดรถเดินไปดู ปรากฏว่าเป็นเห็ดโคนครับ โอ้ย...ลาภปากจริง ๆ ซื้อมาหนึ่งถุงใหญ่ประมาณ ๑ กิโลกรัม ดอกตูม ๆ กำลังกินทีเดียว จะว่าไปแล้วหน้านี้ไม่น่ามี จะมีก็ประมาณเดือนตุลาคม เห็ดโคนจัดว่าเป็นเห็ดที่อร่อยที่สุดในขบวนการเห็ด
ออกจากทองผาภูมิ ย้อนกลับมาทางเดิม เลี้ยวซ้ายไปทางอำเภอสังขละบุรี ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร ถึงสามแยกพุทโธแล้วเลี้ยวขวา เส้นทางเป็นถนนลาดยางช่วงแรกผ่านบ้านห้วยเสือ เป็นถนนลูกรัง ประมาณ ๔๓ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายไปอีก ๘ กิโลเมตร ก็ถึงหน่วยฯ ทินวย
เราพักกันที่หน่วยฯ ทินวย ก่อนเข้าก็ต้องลงชื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่ด่านทราบก่อนว่าจะเดินทางไปที่ไหน ทินวยเป็นหน่วยที่เหมาะแก่การดูนก มีนกหลายชนิด เวลาที่เหมาะคือช่วงเช้า บริเวณหน่วยฯ ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติและเส้นทางดูนก จริง ๆ ไม่ต้องบอกก็รู้ว่านกเยอะ เสียงร้องหลากหลายเสียง บินกันว่อนไปหมดในตอนเช้าตรู่
พอสาย ๆ แดดเริ่มจัด เราออกเดินทางไปหน่วยฯ ทิคอง ขับรถกันมาไม่ไกลจากหน่วยมากนัก เจออุปสรรคแรก ต้นไม้ล้มขวางทาง ต้องใช้เลื่อยค่อย ๆ เลื่อยตามกำลังคน จนเจ้าหน้าที่เดินทางมาช่วยพร้อมเลื่อยยนต์ ทำให้ไม่เสียเวลามากนัก ใช้เวลาแป๊บเดียวตัดขาดหมด เรื่องไม้ล้มเจ้าหน้าที่บอกว่าต้องปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น เอามาทำอะไรไม่ได้ คงจะเป็นมาตรการป้องกันการตัดไม้ทางหนึ่ง มิฉะนั้น ทุกคนจะอ้างไม้ล้มตลอด
เส้นทางขึ้นเขาไม่สูงนัก สภาพสองข้างทางช่วงนี้เป็นป่าทึบ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าชื่อพงษ์ไพร (ชื่อเหมาะกับงานจริง ๆ) บอกว่าแถวนี้มีกระทิง ชี้ให้ดูรอยเท้าและเส้นทางเดินของกระทิงในสภาพใหม่ ๆ ผมขับรถอยู่คันหน้าค่อนข้างได้เปรียบ เพราะจะเห็นสัตว์ป่าเกือบตลอดทาง เช่น ไก่ฟ้าหลังเทา เก้ง หมาใน ไก่ป่า การเดินทางเป็นไปด้วยความลำบาก หลายช่วงเป็นโคลน พื้นเป็นดินเหนียว ปั่นกันจนล้อเป็นวงโดนัตกว่าจะขึ้นเนินได้ เล่นเอามอมแมมกันถ้วนหน้าทั้งรถทั้งคน กว่าจะถึงหน่วยฯ ทิคอง ระยะทาง ๑๕ กิโลเมตร เราใช้เวลาเกือบ ๓ ชั่วโมง
จากหน่วยฯ ทิคองมีทางแยกขวาไปน้ำโจนอีกประมาณ ๙ กิโลเมตร ระหว่างนั้นฝนเริ่มตก เราเลยไม่ได้เข้าไปที่น้ำโจน ก่อนเดินทางเราไปดูโป่งเทียมและห้างส่องสัตว์บริเวณโป่ง มีรอยเท้าสัตว์หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเก้ง กว้าง กระทิง ห้างนั่งส่องสัตว์นั้น ทางหน่วยทำไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ใช้ศึกษาชีวิตสัตว์ป่า เจ้าหน้าที่อธิบายวิธีการทำโป่งเทียมว่าจะนำเกลือไปโรยไว้บนดิน เพื่อล่อให้สัตว์ลงมากินดินผสมเกลือที่โรยไว้ แต่ต้องแน่ใจว่าบริเวณนั้นมีสัตว์ป่าผ่านมาบ่อย ๆ
เราออกเดินทางต่อไปยังหน่วยฯ ซ่งไท้ สภาพเส้นทางเริ่มเปลี่ยนเป็นขึ้นเขาสูง สองข้างทางเป็นป่าโปร่งสลับกับป่าไผ่ โชคดีที่ฝนหยุดแล้ว ปีนี้ฝนมาเร็ว สภาพถนนลื่นเป็นบ่อโคลน ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการขับรถ เราผ่านป่าปรง บางต้นมีหลายยอดดูแปลกตา มาถึงหน่วยฯ ซ่งไท้ ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อว่าหน่วย ฯ มหาราชใ ช้เวลา ๒ ชั่วโมงกว่า ระยะทางประมาณ ๑๗ กิโลเมตร น้ำในลำห้วยซ่งไท้ค่อนข้างสูงเนื่องจากเมื่อสองสามวันที่ผ่านมาฝนตกหนัก เราเลยกางเต็นท์นอนฝั่งตรงข้ามกับที่ทำการหน่วย
ในระยะหลังเมื่อมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปมากขึ้น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ออกกฎระเบียบเพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาทัศนศึกษาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ไม่ให้ไปรบกวนธรรมชาติ หรือในบางพื้นที่ที่เป็นที่หากินของสัตว์ป่า
การเข้าทุ่งใหญ่นเรศวรกำหนดให้เดินทางไปได้แค่หน่วยฯ ซ่งไท้ สำหรับเรื่องการนำรถเข้า วันหนึ่งให้ไม่เกิน ๑๐ คัน โดยในฤดูฝนจะปิดเส้นทางจำนวน ๔ เส้นทาง คือ เส้นทางหน่วยพิทักษ์ป่าทินวย-ซ่งไท้ เส้นทางหน่วยพิทักษ์ป่าทินวย-น้ำโจน เส้นทางสะเนพ่อง-เกาะสะเดิ่ง เส้นทางตะเคียนทอง-น้ำตกสะละวะ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๐ มิถุนายนถึงวันที่ ๓๐ พฤศจิกายนของทุกปี จริงๆ คำสั่งนี้ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ แล้ว อย่างไรก็ขอความร่วมมือชาวออฟโรดด้วย เพื่อเป็นการรักษาและคงสภาพป่าและระบบนิเวศให้มีเวลาฟื้นตัว หลังจากต้องรับภาระในการต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างหนักหลายเดือน
ป่าคือป่า การเข้าป่าทุกครั้งประสบการณ์ที่ได้รับจะแตกต่างกันออกไป ทั้งประทับใจและเสียใจ เวลาต่างกันนิดเดียวสถานการณ์อาจเปลี่ยนไป การรับมือกับธรรมชาติไม่ใช่มนุษย์จะชนะเสมอ การเดินทางเข้าทุ่งใหญ่นเรศวรน่าจะเป็นการไปท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติ โดยเฉพาะการขับรถประเภทเอามันสะใจ ฉันผ่านเส้นทางนี้มาแล้ว โดยเฉพาะการเดินทางเป็นคาราวานออฟโรด มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก เช่น ท่านนำรถออฟโรดเข้าไป ๑๐ คัน ไม่ว่าจะไปท่องเที่ยวหรือนำของไปบริจาคสุดแล้วแต่ ท่านทราบไหมว่า เมื่อท่านกลับออกไปแล้วสภาพถนนจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในฤดูฝน รถของชาวบ้านคงจะสู้รถของท่านไม่ได้ อุปกรณ์วินซ์ก็ไม่มี เจ็บไข้ได้ป่วยกว่าจะออกมาได้บางครั้งก็ไม่ทัน คงต้องสร้างทัศนคติกันใหม่ในการเดินทาง
ผมเคยอ่านหนังสือคู่มือออฟโรด ผู้เขียนใช้ชื่อว่า “ทิดจันทร์” เขียนออกมา ๒ เล่ม เป็นหนังสือแนะนำการขับรถออฟโรดที่ดีมาก ให้คำแนะนำในเชิงอนุรักษ์ พร้อมเส้นทางแนะนำในการขับรถแบบออฟโรด เมืองกาญจน์จัดได้ว่าเป็นเป้าหมายหลักของชาวออฟโรด ปัจจุบันทุกวันหยุดจะเห็นขบวนออฟโรดมุ่งหน้ามาเมืองกาญจน์ มีหลายกลุ่ม หลายชมรม ถือได้ว่าเป็นการรวมตัวที่ดีในการเดินทางท่องเที่ยว แต่คงต้องมีวิจารณญาณในการเลือกเส้นทาง พร้อมทั้งฤดูกาล หลายชมรมมีความตั้งใจดีในการเดินทาง ถือได้ว่าวงการออฟโรดพัฒนาไปในทิศทางที่ดี ส่งผลให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในทุกภูมิภาค
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและอีกหลายที่ งบประมาณที่ได้รับน้อยอยู่แล้ว ไม่ค่อยเพียงพอต่อการปฏิบัติการพิทักษ์ป่า โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ด้วยเงินเดือนอันน้อยนิด เขาต้องรับผิดชอบในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบล่าสัตว์ การบุกรุกป่า การโดนข่มขู่จากคาราวานออฟโรดบางพวก ปัญหาขยะจากนักท่องเที่ยว ก่อนเดินทางกลับจึงควรนำออกมาด้วย
ถึงเวลาที่เราคนไทยคงต้องให้ความร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อรักษาผืนป่าที่ทรงคุณค่า และมีประโยนช์มหาศาล และที่สำคัญที่สุดในปีนี้ เพื่อเป็นการถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงครองราชย์ครบ ๖๐ ปี
ขอขอบคุณ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและเจ้าหน้าที่ทุกคน บริษัทตรีเพชรอีซุซู จำกัด สนับสนุนพาหนะในการเดินทาง กนกคาร์เฮ้าส์ สนับสนุนอุปกรณ์ในการเดินทาง
ที่มา : อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๑๒ เดือนกรกฎาคม ๒๕๔๙
Credit: องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (www.osotho.com)
No comments:
Post a Comment