Friday, March 18, 2011

GreenBkk.com Hot News | วีรบุรุษนิรนามที่ "ฟุคุชิมา" แนวป้องกันสุดท้ายของญี่ปุ่น

วีรบุรุษนิรนามที่ "ฟุคุชิมา" แนวป้องกันสุดท้ายของญี่ปุ่น

ในขณะที่คนครึ่งโลกตื่นกลัวกับสารกัมมันตภาพรังสี ที่อาจแพร่ออกมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ คนกลุ่มหนึ่งกลับไม่คำนึงถึงอันตรายจากมัน และก้มหน้าก้มตาทำตามหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายมาอย่างถึงที่สุด

คนเหล่านี้คือวีรบุรุษนิรนาม ไม่มีการเปิดเผยชื่อเสียงเรียงนาม ไม่เคยมีใครพบเห็นหน้าตา แต่พวกเขากำลังแลกชีวิตทั้งชีวิต ทำงานแข่งกับเวลา พยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตนิวเคลียร์ลุกลามและรุนแรงจนกลายเป็นหายนภัยครั้งใหญ่

คนเหล่านี้คืบคลานไปตามช่องทางแคบๆ ลดเลี้ยวไปตามกองอุปกรณ์ที่เหมือนเขาวงกตในท่ามกลางความมืดมิด มีเพียงไฟฉายเล็กๆ ส่องนำทาง สองหูยังต้องเงี่ยฟังเสียงระเบิดเป็นระยะจากแก๊สไฮโดรเจนที่เล็ดลอดออกมาและเกิดระเบิดขึ้นเมื่อเจอเข้ากับอากาศภายนอก

พวกเขาหายใจอย่างยากลำบากผ่านทางเครื่องช่วยหายใจ ด้านหลังต้องสะพายถังออกซิเจน จัมพ์สูทสีขาว กับหน้ากากคลุมหัวที่ปิดล็อคแน่นหนา ช่วยได้ก็เพียงแค่สร้างความรู้สึกเหมือนได้รับการป้องกันแล้วเท่านั้น

คนเหล่านี้คืออาสาสมัครจำนวน 50 คน ที่ไม่มีการเปิดเผยชื่อซึ่งถูกทิ้งเอาไว้ เพื่อทำหน้าที่ปั๊มน้ำทะเลฉีดเข้าสู่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ระเบิดเปิดกว้างออกมาอย่างน่ากลัว

เชื่อกันว่าแกนภายในหลอมละลายไปส่วนหนึ่งแล้วและกำลังแพร่สารกัมมันต ภาพรังสีจำนวนออกมาเรื่อยๆ เป้าหมายของพวกเขาคือป้องกันไม่ให้เกิดการหลอมละลายขึ้นกับแท่งเชื้อเพลิงทั้งหมดในแกนปฏิกรณ์ ที่อาจส่งผลให้ฝุ่นของสารกัมมันตภาพรังสีนับพันๆ ตันฟุ้งกระจายขึ้นสู่อากาศเบื้องสูงและทำให้เพื่อนร่วมชาตินับล้านตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิต

คนทั้งหมดถูกร้องขอให้ขยายเวลาการทำหน้าที่อยู่ภายในบริเวณโรงไฟฟ้าเมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ในเวลาเดียวกันกับที่ โยโกะ โคมิยามะ รัฐมนตรีสาธารณสุขญี่ปุ่น ยอมรับว่าได้มีการเพิ่มระดับสูงสุดของสารกัมมันตภาพรังสีภายในโรงงานที่กฎหมายอนุญาตให้คนงานได้รับ ขึ้นจากเดิมที่ระดับ 100 มิลลิ ซีเวิร์ตสู่ระดับ 250 มิลลิซีเวิร์ต

ระดับของกัมมันตภาพรังสีดังกล่าวมีค่าสูงกว่าระดับสูงสุดที่ทางการอเมริกันอนุญาตให้คนงานในโรงงานนิวเคลียร์ของตนได้รับถึง 5 เท่าตัว

ทางเทปโก้ ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ไม่เคยแถลงประการหนึ่งประการใดออกมาเกี่ยวกับกลุ่มคนงานดังกล่าว มีเพียงรายละเอียดเล็กน้อยที่เผยแพร่ออกมา แต่เพียงเท่านั้นก็ทำให้ทุกคนจินตนาการถึงสภาพภายในได้อย่างชัดเจน

นับตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวเรื่อยมา มีคนงานเสียชีวิตไปแล้ว 5 ราย อีก 22 รายได้รับบาดเจ็บด้วยสาเหตุแตกต่างกันออกไป สูญหายไปอีก 2 คน

คนงานรายหนึ่งต้องเข้ารับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล หลังจากเกิดอาการเจ็บหน้าอกขึ้นมาเฉียบพลัน และไม่สามารถทรงตัวยืนได้

อีกรายต้องเข้ารับการรักษา เพราะเจอเข้ากับปริมาณรังสีมหาศาลที่ระเบิดเข้าใส่ตัวขณะทำหน้าที่อยู่ใกล้กับเตาปฏิกรณ์ที่เสียหายบางส่วน

ในการระเบิดของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา มีคนงานอีก 11 คนได้รับบาดเจ็บ

แต่พวกเขาก็ยังอาสา เต็มใจที่จะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ หลังจาก 50 คนแรกเข้าไปต่อสู้กับหายนะภายในแล้ว อีก 20 รายสมัครใจขอตามเข้าไปปฏิบัติงานสุดเสี่ยงด้วยในวันต่อมา

เจ้าหน้าที่เทคนิคประจำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างเช่นที่ฟุคุชิมา มีสำนึกของการรวมกลุ่ม ความรักในพวกพ้องเพื่อนร่วมงานสูง ในท่วงทำนองเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิง หรือหน่วยทหารแต่ละหน่วยในกองทัพมี

พวกเขาไม่เพียงผ่านการฝึกอบรมที่แตกต่างจากการทำหน้าที่ทั่วๆ ไปมาด้วยกันเท่านั้น ยังผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่เสี่ยงอยู่กับอันตรายมหาศาลมาเนิ่นนานนับปี

นอกเหนือจากพันธะโดยธรรมชาติที่ผูกมัดพวกเขาเข้าด้วยกันแล้ว ยังความผูกพัน ภักดี และพันธะผูกพันในแง่ของเพื่อนร่วมวิชาชีพเดียวกัน พร้อมที่จะทุ่มเทและอุทิศตนอีกด้วย

ในภาวะปกติ เตาปฏิกรณ์แต่ละเตา จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าเทคนิคเพื่อดูแล และควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ 2-3 คนเท่านั้น ฟุคุชิม่า ไดอิจิ มี 3 เตา จึงใช้เจ้าหน้าที่รวมทั้งซุปเปอร์ไวเซอร์ ระหว่าง 10-12 คนเท่านั้น

การทิ้งคนไว้ถึง 50 คน ด้านหนึ่งแสดงให้เห็นถึงภารกิจมหาศาลที่พวกเขาต้องรับมือ ในอีกด้านหนึ่งแสดงให้เห็นถึงความกล้า และความเสียสละถึงขีดสุดของคนในส่วนที่เหลือที่ไม่ได้มีหน้าที่ หรือจำเป็นต้องอยู่ในขณะนี้

อันตรายที่คนงานทั้งหมดจะพานพบในกรณีที่เกิดเหตุเลวร้ายถึงขีดสุดขึ้น อาจเทียบเคียงได้กับชะตากรรมของบรรดาคนงานในโรงงานไฟฟ้าเชอร์โนบิล ที่เกิดระเบิดขึ้นเมื่อปี 1986

ในบรรดาคนงานของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ที่ยูเครน ซึ่งอาสาพยายามแก้ไขวิกฤตและสุดท้ายก็อาสาเป็นผู้เทซีเมนต์ปิดทับทั้งเตานั้น มี 28 คนที่เสียชีวิตลงภายในระยะเวลา 3 เดือนหลังเหตุการณ์สิ้นสุดลง

มีอย่างน้อย 19 คนในจำนวนนั้น ตายเพราะอาการติดเชื้อ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ผิวหนังของพวกเขาถูกกัมมันต ภาพรังสีเผาลวกและเปิดออกเป็นบริเวณกว้าง

คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์แห่งสหประชาชาติ รายงานเอาไว้ด้วยว่า อีก 106 คน ล้มป่วยเพราะได้รับรังสีมากเกินไป นานเกินไป ซึ่งมีทั้งอาการอาเจียนต่อเนื่อง วิงเวียน ท้องร่วงอย่างรุนแรง และปริมาณเม็ดเลือดขาวลดฮวบเพราะเซลล์ไขกระดูกถูกทำลาย ซึ่งส่งผลให้คนเหล่านี้มีภูมิคุ้มกันลดลงจนต่ำมาก ติดเชื้อได้ง่ายดาย และรับเชื้อได้มากกว่าคนปกติทั่วไปมาก

อาการป่วยของคนทั้ง 106 คน พัฒนาขึ้นไปได้อีกหลากหลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่าง "ต้อ" ไปจนถึงอาการหลุดร่อน ลวกไหม้ของผิวหนัง ไม่นานส่วนใหญ่ก็เริ่มทยอยกันเสียชีวิตจากลิวคีเมีย (มะเร็งเม็ดเลือด) และโรคมะเร็งในเลือดชนิดอื่นๆ

ภายในโรงไฟฟ้าฟุคุชิม่า ไดอิจิ ในเวลานี้ ปนเปื้อนเต็มไปด้วยสารกัมมันตภาพ รังสี มากเสียจนผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ยากที่จะทำให้พนักงานรายหนึ่งรายใดทำงานอยู่ใกล้บริเวณเตาปฏิกรณ์เป็นเวลานานๆ ได้

ภายใต้สภาพปนเปื้อนสูงอย่างนี้ คนงานจำเป็นต้องทำงานวนกันเป็นระยะๆ ช่วงหนึ่งๆ กินเวลาเพียงไม่กี่นาทีก็ต้องกลับออกมา ให้คนต่อไปเข้าไปทำต่อ

ทำต่อเนื่องอย่างนี้จนกว่างานแต่ละอย่างในบริเวณเตาปฏิกรณ์จะแล้วเสร็จ

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม เมื่อ มิชิโกะ โอซึกิ หนึ่งในพนักงานที่ทำหน้าที่อยู่ใน โรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ไดนิ ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากฟุคุชิมา ไดอิจิ เพียง 16 กิโลเมตรและจำเป็นต้องอพยพออกมา บันทึกความในใจเอาไว้ในเว็บล็อกส่วนตัวว่า

"คนที่ทำงานอยู่ในโรงไฟฟ้าเหล่านี้ กำลังต่อสู้อย่างถึงที่สุด ไม่ยอมล่าถอย ท้อแท้"

"นับแต่นี้ไป ฉันคงทำได้เพียงแค่สวดภาวนาให้ทุกรอดปลอดภัยเท่านั้น"

"ได้โปรด อย่าลืมเลือนเด็ดขาดว่า นี่คือบรรดาคนที่กำลังทำหน้าที่เพื่อปกป้องชีวิตของทุกๆ คน โดยใช้ชีวิตของตนเองเข้าแลก" !

นี่แหละ คือวีรบุรุษที่แท้จริง!

ที่มา : หน้า 30 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 18 มี.ค. 2554

No comments:

Post a Comment