แนะนำหนังสือธรรมะ "ความน่ากลัวของสิ่งที่เรียกว่าสุข"
ความน่ากลัวของ “ความสุข”
ในอานาปานสติหมวดที่สอง ที่ชื่อว่า เวทนานุปัสสนา พระพุทธเจ้าเน้นการฝึกปฏิบัติว่า ต้องฝึกการพิจารณาในเรื่องของสุขเวทนาทุกขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก
พิจารณาอะไรในเรื่องสุขเวทนาทุกลมหายใจเข้า-ออก ก็คือ พิจารณาให้เห็นโทษทุกข์ของสุขเวทนาว่า เมื่อยึดติดในสุขเวทนาแล้ว มันสามารถก่อโทษทุกข์แก่จิตใจได้อย่างไรบ้าง มันทำให้ร้อนเร่า ดิ้นรนทะยานอยากปรารถนาอย่างไม่รู้อิ่มไม่รู้พอ เกิดความตะกละตะกลามหิวกระหาย อยากจะได้อีกเรื่อยๆให้มากให้พอ แต่ไม่เคยพอ ได้แล้วก็อยากได้อีก ถ้าจะเปรียบก็เหมือนหนึ่งว่า ได้ร้อยแล้วอยากได้พัน ได้พันแล้วอยากได้หมื่น ได้หมื่นแล้วอยากได้แสน ได้แสนแล้วอยากได้ล้าน ได้ล้านแล้วก็อยากได้หลายๆล้าน จนเป็นพันล้านหมื่นล้านไม่รู้จบ
เพราะฉะนั้นท่านจึงให้พิจารณาเรื่องของสุขเวทนาให้ละเอียดยิ่งกว่าเรื่องของความทุกข์เสียอีก เพราะทุกข์นี่คนมักจะเกลียดกลัวอยู่แล้ว ไม่ค่อยอยากเข้าใกล้ แต่สุขนี่อยากถลาเข้าไปหา มันติดง่าย จึงต้องพิจารณาให้ละเอียดจนกระทั่งเห็นความเป็นมายาของความสุข
เห็นว่าสุขนั้นมันเป็นมายา มันเหมือนกับรุ้งกินน้ำ มองดูสวยด้วยแสงสีนานาชนิด สีเหลือง สีฟ้า สีเขียว สีแดงอ่อนๆ มองดูแล้วสวยงามน่าจับต้อง น่าคว้าเอามาไว้ดูเล่นใกล้ๆตัว แต่มีใครสามารถจับรุ้งกินน้ำได้บ้าง ก็ได้แต่มองด้วยตา แล้วไม่ช้าไม่นานมันก็ลับหายไป ความสุขก็เหมือนกันอย่างนี้
หรือจะเปรียบอะไรก็ได้ตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละท่าน ความสุขหรือสุขเวทนานี้ เราจะเปรียบกับอะไรดีนะ มันถึงยั่วเย้าใจให้ติดเสียเหลือเกิน จนกระทั่งเห็นชัดถึงความเป็นมายาของมัน ชัดเมื่อไรนั่นแหละ ความยินดีในสุขเวทนาทั้งหลายที่เกิดผ่านทางตาก็ดี หูก็ดี จมูกก็ดี ลิ้นก็ดี กายก็ดี หรือใจก็ดี จึงจะหยุดยั้ง แล้วก็สงบ ระงับ ไม่ยึดติด และเมื่อนั้นแหละ เมื่อความยินดีดับ ทุกข์ก็ดับ
ฉะนั้นองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงชี้ชัดทีเดียวว่า การติดในสุขเวทนานี้เป็นสิ่งน่ากลัว ต้องระมัดระวัง ระมัดระวังมากในสิ่งที่เรียกว่าความสุข มันไม่ใช่ของดี มันเป็นไฟเย็น หรือบางทีท่านก็เรียกว่าเป็น ทุกข์ที่ซ่อนเร้น
Credit: ธรรมะสวัสดี Dhamma Sawasdee (www.dhammasawasdee.com)
No comments:
Post a Comment