Sunday, January 23, 2011

GreenBkk.com Travel | พระนางจามเทวี กษัตรีแห่งนครหริภุญชัย

พระนางจามเทวี กษัตรีแห่งนครหริภุญชัย

สายสุนีย์ สิงหทัศน์...เรื่อง เกรียงไกร เรือนแก้ว...ภาพ

พระนางจามเทวี เป็นสตรีที่มีบทบาทสำคัญโดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์ล้านนาไทยและชาติไทย ด้วยทรงเป็นกษัตรีองค์แรกของราชวงศ์จามเทวีที่ครอบครองเมืองหริภุญชัย หรือเมืองลำพูน ซึ่งปรากฏในเอกสารโบราณเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า “หวังหนีก๊ก” อันหมายถึงอาณาจักรที่มีผู้หญิงเป็นกษัตริย์ เป็นอาณาจักรที่มีความเจริญมั่งคั่งยิ่งกว่าอาณาจักรใด ๆ ในยุคนั้น พระนางจามเทวีไม่เพียงแต่จะทรงมีพระสิริโฉมงดงาม แต่ยังทรงมีพระปัญญาเป็นเลิศและมีศีลบริสุทธิ์ กล่าวกันว่าในสมัยนั้นโปรดให้สร้างพระอารามไว้ ๔ มุมเมือง รวมแล้วมีพระอารามถึง ๒,๐๐๐ แห่ง ทั่วพระนครและปริมณฑล

เรื่องราวของพระนางจามเทวีมีกล่าวถึงในตำนานต่าง ๆ หลายแห่งแตกต่างกันออกไป จากตำนานพื้นเมืองกล่าวว่า พระนางจามเทวีทรงเป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์ลพราช ผู้ครองเมืองละโว้ ต่อมาพระฤๅษีวาสุเทพและพระฤๅษีสุกทันตะได้สร้างเมืองหริภุญชัยและแต่งตั้งให้นายควิยะบุรุษเป็นทูตพร้อมด้วยเครื่องบรรณาการ ไปทูลขอหน่อกษัตริย์จากเมืองละโว้ กษัตริย์เมืองละโว้ได้โปรดให้พระราชธิดาซึ่งอภิเษกสมรสแล้วกับเจ้าชายรามราชแห่งเมืองรามนคร และทรงพระครรภ์ได้ ๓ เดือน ไปครองเมืองแทน ซึ่งพระนางจามเทวีก็ทรงเต็มพระทัยที่จะเสด็จไปพร้อมกับพระมหาเถระที่ทรงพระปิฎก ๕๐๐ รูป หมู่ปะขาวที่ตั้งอยู่ในเบญจศีล ๕๐๐ คน บัณฑิต ๕๐๐ คน พ่อค้าวานิช สมณชีพราหมณ์ และช่างต่าง ๆ อย่างละ ๕๐๐ คน รวมประมาณกว่า ๗,๐๐๐ คน

การเสด็จไปครองนครหริภุญชัยในครั้งนั้น พระนางจามเทวีเสด็จจากเมืองละโว้โดยขบวนชลมารค ซึ่งเป็นขบวนใหญ่ล่องไปตามลำแม่น้ำปิง ดังปรากฏเรื่องราวและชื่อสถานที่อันเกี่ยวกับพระนางจามเทวีหลายแห่งในปัจจุบัน เช่น บ้านตากก็ได้ชื่อมาจากสถานที่ที่น้ำซัดเข้าเรือ ทำให้เสื้อผ้าเปียกน้ำ จึงมีการหยุดพักและนำสิ่งของเสื้อผ้าออกตาก สถานที่ที่พระนางจามเทวีทรงระลึกถึงบ้านก็ได้ชื่อว่า จามเหงา แล้วเพี้ยนมาเป็นสามเงาในเวลาต่อมา ส่วนหน้าผาที่ขบวนใช้เป็นสถานที่อาบน้ำ ก็ได้ชื่อว่าผาอาบนาง หรือผานางอาบ และที่ดอยเต่าจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมเป็นเมืองร้าง เมื่อขบวนมาประทับแรม บรรดาเต่าป่าพากันมาแย่งอาหาร จึงได้ชื่อว่าดอยเต่า ส่วนเมืองฮอดก็ได้ชื่อมาจากการที่พระนางจามเทวีทรงถามชาวบ้านป่าแถบนั้นว่าอีกเท่าไรจึงจะฮอดลำพูน
ขบวนเสด็จของพระนางจามเทวีต้องรอนแรมมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานโดยขบวนชลมารค จากนั้นจึงขึ้นฝั่งเสด็จต่อไปด้วยขบวนช้าง ขบวนม้า เมื่อประทับแรม ณ ที่แห่งใดก็จะทรงสร้างศาสนสถานเป็นที่ระลึกไว้เสมอ จนมาถึงบ้านละมักจึงทรงหยุดพักขบวนเพื่อรอเสด็จเข้าเมืองลำพูนต่อไป รวมระยะเวลาเดินทางทั้งสิ้น ๗ เดือน

พระนางจามเทวีได้ทรงครอบครองเมืองหริภุญชัย หรือเมืองลำพูน เมื่อปี พ.ศ. ๑๒๐๖ ทรงนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่เมืองหริภุญชัยเป็นอันมาก ทั้งทางด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม พระราชอาณาเขตแผ่ไพศาลไปทั่ว โดยมีเมืองหริภุญชัยเป็นศูนย์กลางการปกครอง ทรงครองราชย์ได้ ๕๒ ปี จึงเสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุ ๙๒ พรรษา มีผู้สืบเชื้อสายติดต่อกันมาถึง ๔๙ พระองค์ รวมระยะเวลา ๖๑๘ ปี จึงเสียพระนครให้แก่พญามังรายมหาราชแห่งอาณาจักรล้านนาในปี พ.ศ. ๑๘๒๔

อนุสรณสถานของพระนางจามเทวียังมีปรากฏอยู่หลายแห่งในจังหวัดลำพูน เช่น วัดมหาวนาราม หรือวัดมหาวัน เป็นหนึ่งในวัด ๔ มุมเมืองที่โปรดให้สร้างขึ้น เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญคือ พระรอดหลวง ที่ทรงอัญเชิญมาจากกรุงลวปุระ วัดจามเทวี หรือวัดกู่กุด ที่เจ้าอนันตยศและเจ้ามหันตยศโอรสฝาแฝดของพระนางสร้างขึ้นบรรจุพระอัฐิพระมารดาเมื่อปี พ.ศ. ๑๒๙๘ เป็นเจดีย์เหลี่ยมแบบพุทธคยาในประเทศอินเดีย เรียกกันว่าพระเจดีย์สุวรรณจังโกฐ ต่อมายอดหักหายไป ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า กู่กุด ในพระวิหารวัดแห่งนี้มีภาพเขียนประวัติพระนางจามเทวีที่เขียนขึ้นมาในภายหลังหลายภาพ โบราณสถานกู่ช้างกู่ม้า สุสานช้างศึกคู่บารมี และวัดพระธาตุ ส่วนในจังหวัดลำปางก็มีวัดพระธาตุเสด็จ และวัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งได้รับการบูรณะในสมัยต่อมาเกือบทั้งหมด

เนื่องจากพระนางจามเทวีทรงทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองนานัปการ จึงมีการสร้างพระราชานุสาวรีย์กันหลายแห่งในจังหวัดลำพูน เช่น พระราชานุสาวรีย์ที่บริเวณสวนสาธารณะหนองดอก วัดรมนียาราม วัดม่อนมะหินศิลาราม และวัดพระธาตุดอยคำ ฯลฯ รวมทั้งการสร้างวัตถุมงคลอีกหลายชิ้น เช่น พระกริ่งจามเทวี พระพิมพ์พระนางจามเทวีเนื้อผง เหรียญและพระรูปของวัดจามเทวี ฯลฯ และเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม ๒๕๔๗ ได้มีการแสดงละครเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เรื่องพระนางจามเทวี จักรพรรดินี ศรีหริภุญชัย ที่ศาลาเฉลิมกรุงด้วย

...........................................................................................................

ข้อมูลประกอบการเขียน

๑. สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ เล่ม ๓ มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒.

๒. กิตติ วัฒนะมหาตม์ จอมนางหริภุญไชย กรุงเทพฯ : อุษาการพิมพ์ ๒๕๔๖.

๓. ผศ. ดร. ประจักษ์ สายแสง วรรณกรรมสองแคว ตอนที่ ๖ เรื่องนิทาน “จามเทวี” ออกอากาศวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๔๕

ที่มา : อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๖ เดือนมกราคม ๒๕๔๘

Credit: องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (www.osotho.com)


No comments:

Post a Comment