Sunday, January 23, 2011

GreenBkk.com Travel | อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ ณ สวนวชิรเบญจทัศ

อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ ณ สวนวชิรเบญจทัศ

สายสุนีย์ สิงหทัศน์...เรื่อง อิทธิพล พุฒิโภคินทร์...ภาพ

แหล่งการเรียนรู้และท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่กรุงเทพมหานครได้จัดให้มีขึ้น ณ บริเวณสวนวชิรเบญจทัศ และทำพิธีเปิดไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคมที่ผ่านมา คืออุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ เพื่อให้เป็นอุทยานแห่งการเรียนรู้สำหรับนักเรียน เยาวชนและประชาชนทั่วไป ได้ศึกษาเรียนรู้และปลูกจิตสำนึกให้ช่วยกันรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับนันทนาการ การพักผ่อนหย่อนใจ และเพลิดเพลินในการชมความสวยงามของผีเสื้อชนิดต่าง ๆภายใต้บรรยากาศการเรียนรู้อย่างสนุกสนานและมีชีวิตชีวา

คำว่าผีเสื้อ หนังสือพจนานุกรมให้คำนิยามว่า “คือชื่อแมลงทุกชนิดในอันดับ Lepidoptera มีปีกเป็นแผ่นบาง ๒ คู่ ลำตัว ปีก และขาปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดเล็กมาก คล้ายฝุ่นเมื่อมองด้วยตาเปล่า เกล็ดเหล่านี้ทำให้เกิดสีต่าง ๆ กัน ปากเป็นงวงยาวม้วนเข้าอยู่ใต้หัว มีทั้งชนิดหากินในเวลากลางวัน เรียกผีเสื้อกลางวัน และชนิดหากินในเวลากลางคืน เรียกผีเสื้อกลางคืน” และจากการสำรวจพบว่า ทั่วโลกมีผีเสื้ออยู่ทั้งหมด ๗๗ วงศ์ ประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ ชนิด เป็นผีเสื้อกลางวันประมาณ ๒๐,๐๐๐ ชนิด ที่เหลือกว่าแสนชนิดเป็นผีเสื้อกลางคืน ซึ่งในประเทศไทยมีผีเสื้ออย่างน้อยที่สุด ๔๐ วงศ์ เป็นผีเสื้อกลางวัน ๑๑ วงศ์ ประมาณ ๑,๑๔๐ ชนิด และผีเสื้อกลางคืน ๒๙ วงศ์ มีจำนวนชนิดมากกว่าผีเสื้อกลางวันถึง ๑๐ เท่า

เหตุที่คนไทยเรียกแมลงชนิดนี้ว่าผีเสื้อนั้น สันนิษฐานกันว่า เนื่องจากปีกของผีเสื้อมีสีสันสดใสเหมือนกับเสื้อผ้าที่คนเราสวมใส่ และการที่ผีเสื้อบินร่อนไปมา ทำให้คนโบราณคิดกันไปว่ามีผีไปสิงอยู่ในตัว นอกจากนี้ ยังมีชื่อเรียกในบางท้องถิ่นอีกว่า แมลงผี ผีเชื้อโรค แมงกะป้อ หรือแมงกะเบี้ย

ผีเสื้อเป็นแมลงที่สวยงามและมีอยู่มากมายหลากหลายชนิดที่มีให้เห็นอยู่ทั่วไป มีวงจรชีวิตที่น่าศึกษาและมีความสำคัญยิ่งต่อระบบนิเวศเช่นเดียวกับสัตว์ประเภทอื่น ๆ ดังข้อความที่ปรากฏในเอกสารจัดนิทรรศการภายในอุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ ตอนหนึ่งว่า

“ผีเสื้อไม่ใช่แมลงสวยงามที่ไร้คุณค่า มันมีหน้าที่สำคัญในการช่วยผสมเกสรแก่พืชต่าง ๆ แม้แต่ซากผีเสื้อที่ตายแล้ว ก็ยังเป็นอาหารให้กับสิ่งที่มีชีวิตอื่นในธรรมชาติ ดังนั้น ในระบบนิเวศที่ทุกชีวิตเชื่อมโยงพึ่งพาซึ่งกันและกันแล้ว ผีเสื้อแม้จะเป็นเพียงเฟืองเล็ก ๆ เฟืองหนึ่ง แต่ทั้งระบบก็ขาดเฟืองนี้ไม่ได้เช่นกัน”

สิ่งที่น่าชมภายในอุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ ประกอบด้วยพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวและวิวัฒนาการต่าง ๆ เช่น ประเภทของผีเสื้อและแมลง แหล่งกำเนิด วงจรชีวิตและประโยชน์ที่ได้รับ ห้องสาธิตการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนประกอบกับวีดิทัศน์บอกเล่าเรื่องราวความน่ามหัศจรรย์ของผีเสื้อและแมลง รวมทั้งหมดมี ๗ ชุด ในหัวข้อว่า มารู้จักผีเสื้อกันเถอะ ผีเสื้อกับระบบนิเวศ กำเนิดผีเสื้อ ความลับของผีเสื้อ อย่ากินฉันเลย ประโยชน์ของผีเสื้อ และ ๑๐๘ คำถามแสนสนุก นอกจากนี้ ยังจะได้สัมผัสกับชีวิตผีเสื้ออย่างใกล้ชิดในโดมผีเสื้อ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ ๑,๑๖๘ ตารางเมตรที่ได้ออกแบบใกล้เคียงกับที่อยู่ของผีเสื้อตามธรรมชาติมากที่สุด มีบ่อน้ำ ลำธาร น้ำตก และพรรณไม้ต่าง ๆ รวมทั้งพืชอาหารของผีเสื้อที่ผู้ชมสามารถเข้าชมภายในได้โดยรอบ

อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ เปิดให้บริการโดยไม่เสียค่าเข้าชมทุกวันอังคารถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ นาฬิกา ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่โทรศัพท์ ๐ ๒๒๗๒ ๔๓๕๙-๖๐

......................................................................................

ข้อมูลประกอบการเขียน
๑. เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์. หนังสือชุดสังเกตธรรมชาติ ผีเสื้อ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ, ๒๕๔๐.
๒. สูจิบัตร อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ
๓. คุณชานิมา จักรใจ
๔. คุณไพรัตน์ ไพธรรมโชติวัฒน์

ที่มา : อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๘ เดือนมีนาคม ๒๕๔๘








Credit: องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (www.osotho.com)


No comments:

Post a Comment