หอคำ ณ ไร่แม่ฟ้าหลวง อุทยานศิลปะและวัฒนธรรมล้านนา
อุทยานศิลปะและวัฒนธรรมล้านนา
สายสุนีย์ สิงหทัศน์...เรื่อง สมชาย ภักดีภูวดล...ภาพ
หอคำ เป็นชื่อเรียกคุ้มหรือที่อยู่ของเจ้าผู้ครองนครฝ่ายเหนือในสมัยอาณาจักรล้านนา ทุกวันนี้ก็ยังมีปรากฏให้เห็นอยู่อีกหลายแห่ง เช่น หอคำที่จังหวัดน่าน สถานที่ประทับและว่าราชการของพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน ซึ่งทางการเคยใช้เป็นสถานที่ตั้งศาลากลางจังหวัดน่านแห่งแรก และได้รับการปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ในสมัยต่อมา หอคำแต่ละแห่งที่ยังหลงเหลืออยู่นับเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากในด้านสถาปัตยกรรมท้องถิ่นอันงดงาม และมีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นของตนเอง แต่หอคำแม่ฟ้าหลวงจะแตกต่างจากหอคำอื่น ๆ ที่มิได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นคุ้มเจ้าผู้ครองนคร แต่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่เก็บรักษาเครื่องไหว้สาแม่ฟ้าหลวงที่นำมาสร้างเป็นหอคำ ในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๘๔ พรรษา
หอคำแม่ฟ้าหลวง ตั้งอยู่ในไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย อันเป็นที่ดินที่สมเด็จย่าพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์ซื้อไว้กว่า ๑๓ ไร่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ทรงงานและอบรมเยาวชนจากถิ่นธุรกันดาร ในความดูแลของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ด้วยเหตุที่ทรงพบว่าชาวเขาตามจังหวัดชายแดนภาคเหนือมีความลำบากยากไร้ ต้องดิ้นรนทำมาหากินด้วยการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่น นอกจากนี้ ยังทรงพบว่าบรรดาชาวเขาส่วนใหญ่มีฝีมือทางศิลปหัตถกรรมที่น่าสนใจและน่าส่งเสริมให้เป็นอาชีพได้ จึงโปรดให้จัดตั้งมูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทยฯ ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ต่อมาได้ขยายขอบเขตมาสู่ชาวพื้นราบด้วย จึงโปรดให้เปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ มีผลงานเด่น ๆ ได้แก่ โครงการเยาวชนผู้นำชาวเขาและชาวเขาพื้นราบ โครงการพัฒนาหมู่บ้าน และโครงการพัฒนาดอยตุง
ปัจจุบันไร่แม่ฟ้าหลวงมีพื้นที่ประมาณ ๑๕๐ ไร่ ได้รับการพัฒนาปรับปรุงในทุก ๆ ด้าน จากสถานที่อบรมเยาวชนในท้องถิ่นธุรกันดารในอดีต ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการศึกษาและอนุรักษ์ส่งเสริมวัฒนธรรมล้านนาอย่างเต็มรูปแบบ ในนามอุทยานศิลปะและวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง ซึ่งประกอบไปด้วยสวนพฤกษศาสตร์ หอคำ หอคำน้อย และหอแก้ว
อาคารที่สำคัญที่สุดในไร่แม่ฟ้าหลวงก็คือ หอคำ หรือหอคำแม่ฟ้าหลวง สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยประชาชนในภาคเหนือได้ร่วมกันถวายไม้จากเรือนสำคัญในจังหวัดต่าง ๆ ๓๒ หลัง บรรจงสร้างด้วยฝีมือการเข้าไม้แบบโบราณสมัยล้านนาประดับด้วยลวดลายอย่างสวยงาม ภายในหอคำจัดแสดงเครื่องสัตตภัณฑ์หรือแท่นเชิงเทียน ที่ตั้งถวายบูชาหน้าพระประธานในวิหารหรืออุโบสถของวัดทางภาคเหนือ เพราะเมื่อวัดถูกรื้อลง เครื่องสัตตภัณฑ์ได้ถูกยักย้ายถ่ายเทไปตามที่ต่าง ๆ และขาดผู้สนใจ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงได้ซื้อมารวบรวมเพื่ออนุรักษ์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาและเกิดความภาคภูมิใจ นอกจากนี้ ยังมีผู้บริจาคสมทบอีกเป็นจำนวนมาก เครื่องสัตตภัณฑ์ทุกชิ้นที่จัดแสดงจะมีป้ายชื่อและแหล่งที่มากำกับ เช่น เทพทิพย์ สัตตภัณฑ์อย่างสันกำแพง ช้างแก้ว สัตตภัณฑ์อย่างหริภุญไชย บัวร้อยดอก สัตตภัณฑ์อย่างเขมรัฐและสุคนธประทีป สัตตภัณฑ์อย่างนันทบุรี เครื่องสัตตภัณฑ์เหล่านี้จะมีการจุดเทียนในโอกาสสำคัญ ๆ เป็นประจำ กลางหอคำมีปราสาทประดิษฐาน “พระพร้าโต้” พระพุทธรูปไม้สักที่ใช้มีดโต้เป็นเครื่องแกะสลักจากอำเภอลอง จังหวัดแพร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๒๓๖ โดยฝีมือช่างพื้นบ้าน นอกจากนี้ยังเป็นที่เก็บรวบรวมศิลปวัตถุและพุทธศิลป์อีกเป็นจำนวนมาก ส่วนบริเวณรอบอาคารภายนอกเป็นที่จัดแสดงวัตถุไม้สลักรูปต่าง ๆ เช่น กระต่าย พญานาค และหงส์
สิ่งที่น่าชมในไร่แม่ฟ้าหลวง นอกจากหอคำแล้ว ยังมีหอคำน้อย สถานที่เก็บรักษาภาพจิตรกรรมฝาผนังสีฝุ่นจากวัดเวียงต้าหม่อน อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ที่มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และหอแก้ว ซึ่งเป็นที่จัดแสดงศิลปวัตถุทางวัฒนธรรม มีทั้งนิทรรศการถาวรและหมุนเวียนจัดแสดงอย่างต่อเนื่อง เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นมาและประเพณีวัฒนธรรมล้านนา ผู้เข้าชมไร่แม่ฟ้าหลวงนอกจากจะได้ชมศิลปะและวัฒนธรรมล้านนาที่หาชมได้ยากแล้ว ยังจะได้สัมผัสกับบรรยากาศทางธรรมชาติบริเวณโดยรอบที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย ทั้งไม้ดอกไม้ประดับหลากหลายพันธุ์ ทั้งไม้ดั้งเดิมของเมืองเหนือ และไม้แปลกตาที่นำมาจากต่างแดน ตกแต่งด้วยฝีมือการจัดสวนอย่างวิจิตรบรรจงในบรรยากาศของล้านนาโดยเฉพาะ
ไร่แม่ฟ้าหลวงเปิดให้เข้าชมในวันอังคารถึงวันอาทิตย์ เวลา ๑๐.๐๐-๑๘.๐๐ นาฬิกา ค่าเข้าชมสวน หอคำ หอคำน้อย หอแก้ว คนไทย ๑๕๐ บาท ชาวต่างประเทศ ๒๐๐ บาท เด็กอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี ไม่เสียค่าเข้าชม
ข้อมูลการเขียน
๑. สูจิบัตร ไหว้สาแม่ฟ้าหลวง
๒. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การฐานข้อมูล)
๓. แผ่นพับประชาสัมพันธ์ไร่แม่ฟ้าหลวง อุทยานศิลปะและวัฒนธรรมล้านนา
ที่มา : อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๖ เดือนมกราคม ๒๕๔๙
Credit: องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (www.osotho.com)
No comments:
Post a Comment