ปราโมทย์ ไม้กลัด - ทรงจัดหาน้ำให้พอเพียงทั่วผืนดินไทย
ทรงจัดหาน้ำให้พอเพียงทั่วผืนดินไทย
ความประทับใจในการตามเสด็จ
ปราโมทย์ ไม้กลัด...เรื่องและรวบรวมภาพ
“...เคยพูดมาหลายปีแล้ว ในวิธีที่จะปฏิบัติเพื่อที่จะให้มีทรัพยากรน้ำที่พอเพียงและเหมาะสม คำว่าพอเพียงก็หมายความว่าให้มีพอในการบริโภค ในการใช้ ทั้งในด้านการใช้บริโภคในบ้าน ทั้งในการใช้เพื่อการเกษตรกรรม อุตสาหกรรมก็ต้องมีพอ ถ้าไม่มีพอ ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะชะงักลง แล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่เราภูมิใจว่า ประเทศเราก้าวหน้าเจริญ ก็จะชะงักไม่มีทางที่จะมีความเจริญถ้าไม่มีน้ำ...”
เป็นความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ และประชาชนทุกหมู่เหล่าที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๖
พระราชดำรัสอย่างตรงไปตรงมานี้ ทรงวางน้ำหนักไปที่เรื่อง “น้ำ” เป็นสำคัญ เนื่องจากตลอดระยะเวลานานหลายสิบปีที่ทรงใกล้ชิดประชาชนในทุกภาคของประเทศ ทรงทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งมักขาดแคลนน้ำเพาะปลูกพืชและไม่มีน้ำใช้น้ำบริโภคอย่างเพียงพอในฤดูแล้ง ปรากฏให้เห็นกันอยู่ทั่วไปเฉพาะอย่างยิ่งในท้องถิ่นทุรกันดาร
ปัจจุบันนี้สถานการณ์เกี่ยวกับน้ำในท้องที่ต่าง ๆ มีปัญหาเพิ่มมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง ไม่ต้องการเห็นพสกนิกรของพระองค์ต้องทนทุกข์อยู่กับปัญหาการขาดแคลนน้ำ จึงทรงชี้ให้เห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนและเป้าหมายอันสูงสุด ที่จะทรงช่วยรัฐบาลขจัดปัดเป่าความเดือดร้อนให้หมดสิ้นไป
ด้วยเหตุนี้ ในการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรมที่ต่างจังหวัด ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงยอมตรากตรำพระวรกายเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าที่แห่งนั้นมีสภาพพื้นที่ลำบากทุรกันดารเพียงใด และทรงทุ่มเทพระสติปัญญาทำงานพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่สำคัญคืองานจัดหาน้ำให้แก่ราษฎรในท้องที่หมู่บ้านที่ขาดแคลนน้ำ เพื่อช่วยพวกเขาทั้งหลายให้มีโอกาสประกอบอาชีพเพื่อความ “พออยู่ พอกิน” ในเบื้องแรก แล้วจะได้บรรเทาจากความยากลำบากที่กำลังเผชิญอยู่ เพื่อยืนหยัดพัฒนาตนเองให้ “มีกิน มีใช้” ในขั้นต่อไป
จึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อันหมายถึงโครงการที่จะพิจารณาก่อสร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนถึงปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเสร็จรวมแล้วมีประมาณ ๑,๐๐๐ โครงการ มีทั้งโครงการขนาดเล็กและโครงการที่มีขนาดใหญ่ ได้แก่ สระเก็บน้ำประจำไร่นา งานขุดลอกหนองและบึง ฝายทดน้ำ อ่างเก็บน้ำขนาดต่าง ๆ รวมถึงเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่จังหวัดลพบุรี เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักวิชาการและนักทำงานที่ทรงพระปรีชาสามารถยิ่งในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ทั้งที่เดิมนั้นมิได้ทรงเป็นนักวิชาการด้านนี้แม้แต่น้อย แต่เมื่อทรงทุ่มเทพระราชหฤทัยในงานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาให้กับราษฎรของพระองค์เช่นนี้ พระองค์ท่านจึงได้ทรงศึกษาวิชาการและเทคโนโลยีการทำงานพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทานเป็นอย่างมาก ทรงศึกษาจากเอกสารและตำราต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญของหน่วยงานที่ทำงานพัฒนาแหล่งน้ำ และจากชาวต่างประเทศผู้มีความรู้ความชำนาญ ทรงมีหลักวิชาการในการทำงานแหล่งน้ำ ที่สำคัญจะทรงพิจารณาวิเคราะห์ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ แหล่งน้ำธรรมชาติ สภาพทางด้านเศรษฐกิจ รวมถึงสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมของแต่ละท้องถิ่นให้สอดคล้องกันเสมอ
ในการทรงงานจัดหาแหล่งน้ำตามท้องที่ต่าง ๆ โดยทั่วไปที่ปรากฎต่อสาธารณชนนั้น จะเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้แผนที่ที่พระองค์ทรงนำไปตลอดเวลา เป็นแผนที่มาตราส่วน ๑ : ๕๐,๐๐๐ ของกรมแผนที่ทหาร ที่แสดงรายละเอียดภูมิประเทศ ทรงละเอียดรอบคอบเกี่ยวกับงานแผนที่ ตั้งแต่ทรงจัดเตรียมและการใช้แผนที่ประกอบการทรงงานเป็นอย่างมาก ดังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เคยพระราชทานสัมภาษณ์แก่คณะอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตีพิมพ์ในวิศวกรรมสาร ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๒๗ ทรงเล่าให้ฟังว่า
“...ไปไหน ๆ ก็ตาม พระเจ้าอยู่หัวก็จะต้องถือแผนที่ของท่านอยู่แผ่นหนึ่ง แผนที่แผ่นหนึ่งของท่านค่อนข้างจะกว้างกว่าแผนที่ที่ใคร ๆ เห็นกันทั่วไป เพราะท่านเอาหลาย ๆ ระวางมาแปะติดกัน การปะแผนที่เข้าด้วยกันนั้น ท่านทำอย่างพิถีพิถัน แล้วถือว่าเป็นงานที่ใครจะมาแตะต้องช่วยเหลือไม่ได้เลยทีเดียว ก่อนเสด็จฯ ไหน ท่านจะเตรียมทำแผนที่และศึกษาแผนที่นั้นโดยละเอียด
ท่านได้ตัดหัวแผนที่ออก ส่วนที่ตัดออกนั้นจะทิ้งไม่ได้ ท่านจะค่อย ๆ เอากาวมาแปะติดกัน สำนักงานของท่านคือห้องกว้าง ๆ ไม่มีเก้าอี้ มีพื้น ท่านก้มอยู่กับพื้น แล้วเอากาวติดแผนที่เข้าด้วยกัน หัวกระดาษต่าง ๆ ท่านก็ค่อย ๆ ตัด แล้วแปะเรียงกันเป็นหัวแผนที่ใหม่ เพื่อจะได้ทราบว่าแผนที่นั้นเป็นแผนที่ใหม่อันใหญ่ของท่าน ซึ่งท่านทำจากแผนที่ระวางไหนบ้าง
แล้วเวลาเสด็จฯ ไปก็ต้องไปถามชาวบ้านว่าสถานที่นั้นอยู่ที่ไหน ทางทิศเหนือมีอะไร ทิศใต้มีอะไร ท่านถามหลาย ๆ คนแล้วตรวจสอบกันไปมาระหว่างคนที่ถามนั้น ดูจากแผนที่ว่าแผนที่นั้นถูกต้องหรือไม่ น้ำไหลจากไหนไปที่ไหน บางครั้งถ้าแผนที่ไม่ถูกต้องท่านจะตรวจสอบได้
...ในเรื่องของระดับน้ำ ทรงพิถีพิถันเป็นพิเศษ เนื่องจากหลักของท่านคือท่านจะทำในด้านน้ำเพื่อชลประทานก็ต้องทราบว่าน้ำเริ่มต้นที่ไหน จะไหลจากที่ไหนไปสู่ที่ไหน และการพิจารณาในการวางโครงการของท่านนั้น ท่านจะพิจารณาเป็นกลุ่ม ๆ ไปไม่ปะปนกัน บางครั้งชาวบ้านที่กราบบังคมทูลก็กราบบังคมทูลไม่ถูกต้องก็มี ถูกต้องก็มี ก็ต้องใช้ความรู้หลาย ๆ ด้าน เพื่อที่จะพิจารณาดูว่าคนไหนให้ข้อมูลถูก คนไหนให้ข้อมูลผิด และสถานที่นั้นเป็นที่ไหน มีคนไหนกราบบังคมทูลว่าอย่างไรก็จะทรงจดลงในแผนที่นั้น และเวลาเสด็จฯ ไปที่เดิมอีก ส่วนมากจะเป็นปีต่อไป ท่านก็จะใช้แผนที่อันเดิมนั้นในการตรวจสอบทำให้ท่านหวงแผนที่ของท่านมาก”
ทรงเล่าว่าในที่สุดการที่จะพิจารณาสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ณ ที่ใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพิจารณาองค์ประกอบหลายด้านอย่างรอบคอบเสมอ
“...ที่ท่านต้องดูอย่างใกล้ชิด เพราะว่าการทำเขื่อนแต่ละอันก็หมายถึงว่าต้องจ่ายงบประมาณของประเทศไปเป็นจำนวนมาก การจะเลือกทำที่ไหนนั้น นอกจากจะเลือกให้ไม่เกิดความเดือดร้อนแก่ราษฎรเป็นจำนวนมาก คือต้องหลีกเลี่ยงบริเวณที่เป็นที่ตั้งบ้านเรือน และยังต้องคำนึงถึงงบประมาณความประหยัดด้วย เพราะฉะนั้นหากมีใครเสนอโครงการมาท่านก็จะต้องทอดพระเนตรก่อนว่ากั้นน้ำตรงนี้ น้ำจะเลี้ยงไร่นาไปได้ถึงแค่ไหน จะเพิ่มผลผลิตคุ้มและเหมาะสมเพียงพอหรือไม่ เป็นเหตุผลไหมที่จะจ่ายเงินของราษฎรเป็นจำนวนสูงเท่านี้เพราะฉะนั้นท่านจึงต้องดูแผนที่
...ท่านก็ทรงคำนวณตัวเลขกว้าง ๆ เหมือนกันว่า ทำตรงนี้จะดี ได้ผลในบริเวณไหน การที่ได้ผลแค่นี้ ชาวบ้านจะเพิ่มผลผลิตได้เท่าไร...บางแห่งในเชิงวิศวกรรมน่าจะทำมาก แต่ว่าชาวบ้านแถวนั้นยังไม่พร้อมในการพัฒนา ยังไม่มีสภาพร่างกายและจิตใจที่พร้อมจะทำ หรือมีโอกาสได้รับประโยชน์ ถ้าทำนั้นไปโดยคิดแต่ว่าจะให้ประโยชน์แก่พื้นที่ จะพัฒนาภูมิประเทศท้องที่ให้ดีขึ้น แต่ไม่ได้คำนึงถึงตัวคนจริง ๆ แล้วที่เลว ๆ พอทำให้ดีขึ้น พวกที่ขยันขันแข็งและร่ำรวยอยู่แล้วก็ถือโอกาสกรูกันเข้าไปหา คนที่จนอยู่แล้วก็ยิ่งจนหนักขึ้น บางครั้งแผนต่าง ๆ ก็ต้องถือเป็นแผนในกระดาษไปก่อน ถ้าคนในท้องถิ่นพร้อมเมื่อไรจึงจะทำไป นี่ก็เป็นวิธีการที่เอาความรู้ทางวิศวกรรมมาผนวกกับปัญหาทางสังคม”
ทั้งหมดนี้คือข้อความส่วนหนึ่งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานสัมภาษณ์ไว้ แสดงถึงแนวพระราชดำริและหลักการทรงงานพัฒนาแหล่งน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงคุณค่าและหลักการปฏิบัติของพระองค์ท่านว่าควรจะทำอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง
สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการจัดหาแหล่งน้ำช่วยเหลือราษฎรตามท้องที่ต่าง ๆ นั้น ส่วนใหญ่มักจะเสด็จฯ ไปในท้องถิ่นทุรกันดารแทบทั้งสิ้น
ผู้เขียนถือว่าเป็นผู้โชคดีและเป็นมงคลสูงสุดในชีวิต ที่ได้รู้ได้เห็นถึงปรัชญาแห่งการทรงงาน และมีโอกาสได้เรียนรู้เพื่อดำเนินการตามรอยพระยุคลบาทในปรัชญาและแนวพระราชดำริเหล่านั้น ซึ่งน้อยคนนักจะพึงมีโอกาสได้พบเห็น หรือใกล้ชิดกับเหตุการณ์
ดังเช่นในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำงานแต่ละครั้ง แทบจะไม่เคยเป็นการเดินทางสบาย ๆ เลย ล้วนแล้วแต่ต้องบุกป่าฝ่าดง ขึ้นเนิน ข้ามลำห้วย และต้องเดินบุกกันไปในพื้นที่ทุรกันดารครั้งละหลายกิโลเมตร บางครั้งพบกับทางขาด ต้องเร่งซ่อมด่วน ถนนลื่น หรือทำทางลำลองในขณะนั้น หลายครั้งผู้เขียนต้องทำหน้าที่จัดการให้เรียบร้อยโดยด่วน เพื่อให้รถขบวนสามารถผ่านไปได้ เป็นเรื่องปกติที่ทรงกระทำอยู่เป็นประจำ และเหตุการณ์เช่นนี้ผู้อยู่ในขบวนเสด็จฯ จะต้องมีความทรหดอดทนอย่างสูง ต้องเดินเร็วและเดินทนจึงจะตามเสด็จพระราชดำเนินได้ทัน เนื่องจากทรงพระดำเนินเร็วและเหมือนจะไม่ทรงเหน็ดเหนื่อยเอาเสียเลย
เมื่อมีการเสด็จฯ โดยขบวนรถยนต์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเอง และหลายครั้งเป็นการเสด็จฯ แบบไม่มีกำหนดการ ซึ่งรับสั่งว่าเป็นพระราชประสงค์ที่จะเสด็จฯ ไปทรงทำงานเป็นหลัก ไม่ต้องการให้มีการเตรียมรับเสด็จกันมากมาย ดังนั้นคราวใดที่เสด็จฯ โดยไม่ทรงกำหนดเวลาล่วงหน้าเช่นนี้ (ปกติจะสั่งการทางวิทยุเวลาประมาณตอนบ่าย บอกที่หมายจะเสด็จฯ ก่อนที่ขบวนรถยนต์จะออกจากพระตำหนักที่ประทับเวลาประมาณบ่ายสามโมงครึ่ง) ผู้เขียนต้องมีภาระรีบไปสำรวจเส้นทางอย่างฉุกละหุก แล้วนำขบวนเสด็จไปยังที่หมายให้ถูกต้อง
ก่อนที่จะเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรโครงการใด มักจะรับสั่งว่า “ต้องทำการบ้านก่อน” การบ้านที่ว่าก็คือการทรงงานหรือทรงเตรียมศึกษาหาข้อมูลต่าง ๆ ทุกด้านอย่างละเอียด และในการเสด็จพระราชดำเนินทุกครั้ง อุปกรณ์ที่ทรงมีประจำพระองค์ คือ กล้องถ่ายรูปคล้องที่พระศอ วิทยุสำหรับติดต่อ เข็มทิศ ซึ่งติดอยู่กับนาฬิกาข้อพระกร และแผนที่แผ่นใหญ่พิเศษ
เมื่อเสด็จฯ ถึงที่หมาย จะทรงปฏิสันถารกับราษฎรที่มาเฝ้าฯ อย่างเป็นกันเอง มักประทับนั่งเสมอกับราษฎร บางครั้งบนดินบนหญ้า จนพระสนับเพลาเปื้อนดินโคลนเห็นถนัด และทรงซักถามข้อมูลต่าง ๆ จากราษฎรอย่างถี่ถ้วน จากนั้นโปรดที่จะเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรบริเวณจะสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือฝาย เพื่อประกอบแนวพระราชดำริ พร้อมกับทรงแผนที่ในการเลือกที่สร้างร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้เหมาะสม
ภาพแห่งการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เริ่มตั้งแต่เมื่อเสด็จฯ ไปถึงที่หมาย จนเสร็จสิ้นภารกิจในแต่ละครั้งนั้น ผู้ตามเสด็จทุกคนต่างมีความประทับใจในพระวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือทรงอดทนไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากแม้แต่น้อย แม้พระเสโทจะไหลตลอดเวลาจนท่วมพระพักตร์และฉลองพระองค์ชุ่มไปหมด ก็ยังทรงงานต่อไปเรื่อย ๆ และมีพระอารมณ์ขันอยู่ตลอดเวลา บางครั้งเมื่อเสด็จพระราชดำเนินบุกเข้าไปกลางป่าเพื่อทอดพระเนตรลำน้ำที่จะสร้างเขื่อน แม้ฝนจะตก แต่เมื่องานยังไม่ลุล่วง ก็จะทรงยืนอยู่ท่ามกลางสายฝน ทรงงานต่อไปในฉลองพระองค์และพระมาลากันฝน ส่วนแผนที่นั้นต้องกางในถุงพลาสติกใหญ่ เนื่องจากทรงใช้ตลอดเวลา และจะทรงงานจนเสร็จเสมอ ไม่ว่าจะค่ำหรือดึกเพียงไร โดยอาศัยแสงสว่างจากไฟฉาย จนได้พระราชดำริเกี่ยวกับการจะช่วยเหลือราษฎรอย่างไร ซึ่งจะทรงพิจารณารายละเอียดในแผนที่ของพระองค์ที่ทรงนำไป ร่วมกับข้อมูลที่รับสั่งถามราษฎรประกอบกับที่ทอดพระเนตรในท้องที่ แล้วทรงพิจารณาร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่ตามเสด็จพระราชดำเนินอย่างถี่ถ้วน อาจเป็นโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดความจุเก็บกักน้ำได้ทั้งหมดไม่กี่แสนลูกบาศก์เมตร หรือเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดความจุหลายล้านลูกบาศก์เมตรก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชนและท้องที่ในการมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และพอเพียงต่อการชลประทานของพื้นที่ปลูกข้าวที่ต้องการในบริเวณนั้น ซึ่งจะทรงพิจารณาให้เหมาะสมกลมกลืนทั้งในด้านสภาพภูมิประเทศ ปริมาณน้ำของแหล่งน้ำธรรมชาติที่มี ตลอดจนความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการไม่เกิดผลกระทบทำให้สิ่งแวดล้อมบริเวณนั้นเสื่อมโทรม สุดท้ายทุกครั้งก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ จะรับสั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่นำไปพิจารณาตามแนวพระราชดำริให้ละเอียดเพิ่มเติมอีก ถ้าศึกษาตามหลักวิชาการด้วยความรอบคอบแล้ว โครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่พระราชทานพระราชดำริ เมื่อสร้างแล้วเกิดประโยชน์แก่ราษฎรและชุมชนคุ้มค่า ก็ให้ดำเนินตามขั้นตอนให้ราษฎรโดยเร่งด่วน
นี่คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงทำงานหนักเพื่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาชาวไร่ที่ยากจนในท้องถิ่นทุกรกันดาร ที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำใช้เพื่อการเพาะปลูกพืช ทรงทุ่มเทพระกำลังความคิดและทรงอุทิศพระวรกายในการเกื้อหนุนสงเคราะห์ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปัดเป่าความทุกข์ บันดาลความสุขให้เกิดแก่พสกนิกรของพระองค์ในทุกถิ่นทุกที่ โดยไม่ทรงย่อท้อต่อความยากลำบากทั้งปวง พระมหากรุณาธิคุณที่มีต่ออาณาประชาราษฎร์นี้ แผ่ไพศาลดุจกระแสธาราที่ไม่มีวันเหือดแห้งไปทั่วผืนดินไทย
+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +
ประวัติผู้เขียน
ปราโมทย์ ไม้กลัด
สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร เป็นชาวกรุงเทพมหานคร เกิดเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๓ จบการศึกษาปริญญาตรีช่างชลประทานบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปริญญาวิศวกรรมชลประทาน จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และปริญญาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ ๓๖
นอกจากนี้ ได้รับปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยวงศ์ชวลิตกุล และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
รับราชการที่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยตลอด มีบทบาททำงานด้านวิชาการและบริหาร ได้แก่ งานวางโครงการและคำนวณออกแบบโครงการชลประทานนับร้อยโครงการ ก่อนทำหน้าที่วิศวกรอำนวยการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นผู้แทนกรมชลประทานรับผิดชอบทำงานสนองพระราชดำริในทุกภาค ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๐ นานกว่า ๒๐ ปี
ในภาวะเกิดวิกฤตน้ำ ทำหน้าที่เป็นวิศวกรอำนวยการ ให้คำปรึกษาควบคุมและวางแผนแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ ในภาระหน้าที่กรมชลประทานและในภาพรวมของรัฐบาล
ก่อนเป็นสมาชิกวุฒิสภา เป็นอธิบดีกรมชลประทานและรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนลาออกมาสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๔๒
ปัจจุบันยังปฏิบัติหน้าที่พิเศษเป็นกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา กรรมการแผนกเกษตรศาสตร์ มูลนิธิ “อานันทมหิดล” ฯลฯ
ที่มา : อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๔๓ ฉบับที่ ๕ เดือนธันวาคม ๒๕๔๕
Credit: องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (www.osotho.com)
No comments:
Post a Comment