Monday, January 17, 2011

GreenBkk Travel | ป่านศรนารายณ์ และการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรที่หุบกะพง

ป่านศรนารายณ์ และการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรที่หุบกะพง

“นางชม”...จับจ่าย / “นายเดชะบุญ”...จับภาพ


“ขับรถให้หน่อยสิ จะไปประจวบฯ กับชุมพร” เสียง “นายเดชะบุญ” ขอร้องแกมบังคับอยู่ข้าง ๆ

“ก็คงจะได้นะ แต่ขากลับต้องแวะจับภาพป่านศรนารายณ์ให้ด้วยล่ะ” “นางชม” รับปากโดยมีข้อแลกเปลี่ยน

พอตกลงกันได้ เราก็ออกเดินทางไปโดยรถคันเก่งและเก่าประจำกอง บ.ก.

หลังจากแวะเมืองชายทะเลที่ตกลงกันไว้ โดยที่ตลอดเส้นทางได้พบเหตุการณ์น่าตื่นเต้นอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นถังน้ำมันรถรั่วและรถตกหล่มที่จังหวัดชุมพร ไปยืนรอถ่ายพระอาทิตย์ตกบนเขาช่องกระจกท่ามกลางฝูงลิงเกือบร้อยตัว หลงทาง (ตามคำกำกับเส้นทางของ “นายเดชะบุญ”) ในบางครั้ง จนท้ายสุดมาจบลงที่การปีนป่ายเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ “นายเดชะบุญ” ก็ปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้น คราวนี้ถึงได้เวลาแวะเข้าไปศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อจัดทำคอลัมน์ “จับจ่ายรายทาง” ตามหน้าที่ของ “นางชม” เสียที

ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง เป็นโครงการตามพระราชประสงค์ในการพัฒนาชนบท บนที่ดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อจัดตั้งศูนย์สาธิตและทดลองการเกษตร โดยปฏิรูปที่ดินว่างเปล่า แล้วจัดสรรให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินในการเพาะปลูกเป็นของตนเอง เข้าทำการประกอบอาชีพตามวิธีการเกษตรแผนใหม่ และรวมกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินเหล่านั้น จัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตร โดยสมาชิกของสหกรณ์ฯ เป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่เริ่มการผลิตจนถึงการจำหน่ายสู่ตลาด

“ป่านศรนารายณ์” เป็นส่วนหนึ่งในผลผลิตทางการเกษตรของโครงการหุบกะพง และเป็นสิ่งหนึ่งในผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มสตรีศิลปาชีพหุบกะพง

“นางชม” ได้ยินชื่อป่านศรนารายณ์มานานแล้ว แต่ไม่เคยรู้ว่ามีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ครั้งนี้ได้เห็นต้นป่านศรนารายณ์แล้วรู้สึกทึ่งในการแปรรูป จากใบเรียวปลายแหลมซึ่งมีประโยชน์แค่การปลูกไว้กันวัวควายเข้าไปในไร่นา มาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สวยงามได้อย่างทรงคุณค่า วิธีการผลิตก็ไม่ยุ่งยาก ไม่มีขั้นตอนสลับซับซ้อนมากมาย เพียงแค่นำใบที่มีอายุไม่ต่ำกว่า ๕ ปี มาขูดเอาส่วนเนื้อของใบออก โดยใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกข้างหนึ่งแล้วนำใบสอดไว้ตรงกลาง จับปลายข้างที่ผ่าซีกของไม้ไผ่ไว้ รีดใบจนส่วนที่เป็นเนื้อหลุดออกหมด เหลือใยของใบเป็นเส้นเล็ก ๆ แล้วนำมาตากแห้ง ถ้าต้องการสีสันก็ย้อมสี แล้วนำไปตากแดดอีกครั้ง เพียงแค่นี้ก็ได้เส้นใยมาถักเป็นเปียสารพัดขนาดตามแต่จะประกอบเป็นรูปแบบใด แล้วนำมาเย็บซิกแซ็กด้วยจักรเย็บผ้า ประกอบเป็นรูปทรงของกระเป๋า ตะกร้า หมวก หรือเข็มขัด ให้เราได้ใช้สอยกันแล้ว

จำนวนสมาชิกของกลุ่มสตรีประมาณ ๗๐ กว่าคน นอกจากจะดำเนินการจัดทำผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์แล้วยังมีโครงการแปรรูปผลไม้เพื่อให้เก็บผลผลิตการเกษตรไว้ได้นานเป็นส่วนที่ควบคู่กันไปด้วย โดยแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ เช่น น้ำมะขาม น้ำบ๊วย น้ำกระเจี๊ยบ น้ำมะยม น้ำมะตูม แปรรูปในลักษณะเม็ดขบเคี้ยว เช่น เชอร์รีกวน มะยมกวน มะดันกวน สับปะรด กล้วยกวนกะทิ มะนาวแก้ว ทอฟฟี่ถั่ว ทอฟฟี่นมสด มะขามแก้ว มะขามคลุกหยี ฝรั่งหยี แกนสับปะรดอบ มะขามแช่อิ่มแห้ง และส่วนที่เป็นขนมขบเคี้ยว เช่น กล้วยฉาบ เผือกทอด เม็ดมะม่วงหิมพานต์

นอกจากนี้ยังมีส่วนหนึ่งของสมาชิกสหกรณ์หุบกะพงนำผลผลิตทางการเกษตรที่ไม่ได้แปรรูปจำพวกผักผลไม้สดส่งไปขายที่ตลาดกลางการเกษตรบ้านลาด ของสหกรณ์การเกษตรบ้านลาดอีกด้วย

จากผืนแผ่นดินที่ว่างเปล่า มาสู่การพัฒนา โครงการหุบกะพงนับเป็นต้นแบบในการพัฒนาชนบทตามโครงการพระราชประสงค์และพระราชดำริทั่วทุกภาคของประเทศไทย ชีวิตที่ดูเหมือนไร้ความหวังของเกษตรกรกลับสดใสเรืองรองขึ้นอย่างน่าภาคภูมิใจ เนื่องในพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ องค์ราชูปถัมภ์และราชินูปถัมภ์ของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ


เส้นทางจากหุบกะพงเข้ากรุงเทพฯ เย็นวันนั้น รถคันเก่งประจำกอง บ.ก. นำผู้โดยสารรวมถึงคนขับรถ ซึ่งล้วนแล้วแต่สวมหมวกป่านศรนารายณ์ รวมไปถึงท้ายรถ ที่เต็มไปด้วยน้ำผลไม้และขนมขบเคี้ยว ผลิตผลทางการเกษตรของสหกรณ์ กลับมาจอดหน้าสำนักงาน ททท. โดยสวัสดิภาพ และเตรียมพร้อมกับการเดินทางครั้งต่อไป เพื่อบันทึกเรื่องราวที่น่าภาคภูมิใจในเมืองไทยกลับมา เป็นเช่นนี้อยู่อย่างสม่ำเสมอ ตราบใดที่ยังมีสิ่งต่าง ๆ อีกมากมายให้เราได้ไปพบเห็น สัมผัส เพื่อเผยแพร่ให้ผู้อ่าน อ.ส.ท. ได้รับรู้ร่วมไปกับพวกเรา ไม่ว่าจะวันใดและเวลาใด

งานผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์นอกจากมีวางจำหน่ายทุกวัน เว้นวันจันทร์ เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ นาฬิกา ที่สำนักงานสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี แล้ว ยังมีวางจำหน่ายที่ร้านค้าสวนจิตรลดา ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ค่ายนวมินทราชินี งานออกร้านของศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ และงานแสดงสินค้าอื่น ๆ

ที่มา : อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๓๘ ฉบับที่ ๘ มีนาคม ๒๕๔๑

Credit: องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (www.osotho.com)


No comments:

Post a Comment