Monday, January 17, 2011

GreenBkk Travel | ชีวิตติดดิน ที่บ้านบนดอย

ชีวิตติดดิน ที่บ้านบนดอย

“มะสะลุม”...เรื่อง วิศาล น้ำค้าง...ภาพ


เมื่อวานนี้ “มะสะลุม” ไปเยี่ยมเพื่อนที่สนิทมากคนหนึ่งมา สนิทกันขนาดนี้ไม่ใช่ว่าจะพบกันบ่อย ๆ หรือง่าย ๆ หรอกนะ แต่เดิมก็ใช้เวลาเป็นปีในการนัดเพื่อหาเวลาว่างให้ตรงกัน เนื่องจากธุระปะปังของแต่ละคนมันมากเหลือเกิน และในที่สุดก็พบกันได้ด้วยวิธีสุดท้าย คือไม่นัด อยากไปเมื่อไรก็โทรศัพท์ถามว่าอยู่บ้านหรือเปล่า จะไปเยี่มละนะ..แล้วก็ไปเลย ครั้นไปถึงจะได้เจอเจ้าของบ้านยืนยิ้มอยู่หน้าประตูบ้านก็หาไม่ ด้วยความที่เขาอยู่คอนโดมิเนียมอย่างดีริมน้ำ “มะสะลุม” จึงต้องฝ่าด่านอรหันต์ รปภ. ตั้งแต่ปากทางเข้าไปจนถึงตัวอาคาร กว่าจะได้กดอินเตอร์คอมติ๊งต่องขึ้นไปบอกว่าข้าพเจ้ามาถึงแล้ว ช่วยเปิดประตูรับด้วย เขาเปิดประตูแล้วต้องรีบเข้านะ ไม่งั้นถูกประตูหนีบตายไม่รู้ด้วย ช่างซับซ้อนราวกับเข้าค่ายกล

ความจริงคุณ ๆ ที่เคยชินกับชีวิตในเมืองใหญ่อยู่คอนโดมิเนียมลอยฟ้าอาจจะไม่รู้สึกว่าแปลกอะไรเลย ที่ไหน ๆ เขาก็ทำกัน “มะสะลุม” เองสมัยอยู่ต่างประเทศก็เคยใช้ชีวิตแบบนี้มาแล้ว แต่บอกจริง ๆ ว่ารู้สึกอึดอัดมาก เหมือนเรากำลังติดกับดักที่เราสร้างขึ้นมาขังตัวเองไว้ บางคอนโดฯ ก่อนซื้อโฆษณาว่ามีสวน มีสนามเทนนิส สระว่ายน้ำ ฟิตเนสคลับ ฯลฯ สารพัดจะดูดี แต่พอซื้อแล้วนึกอยากจะใช้เมื่อไรไม่ใช่ว่าจะลงไปเล่นได้ทันทีนะ ต้องบอกผู้บริหารคอนโดฯ จองกันก่อนเพราะคิวยาว เนื่องจากผู้อาศัยบ้านลอยฟ้าเหล่านี้ต่างก็ “หิว” กิจกรรมบนดินกันแทบคลั่งทั้งนั้น

เชื่อว่าหลายคนที่มีชีวิต “อาร์ติฟิเชียล” แบบนี้นาน ๆ เข้าคงจะต้องถวิลหาชีวิตที่เรียบง่ายใกล้ฟ้าป่าเขาและดาวเดือนที่มีเสียงน้ำตกขับกล่อมเมื่อยามหลับ และตื่นนอนตอนเช้าตรู่โดยมีไก่ขันเป็นนาฬิกาปลุก ชีวิตที่อาจไม่สะดวกสบายไปเสียทุกอย่างเหมือนในกรุง แต่เป็นชีวิตที่คุณสามารถสูดลมหายใจได้อย่างเต็มปอดโดยไม่ต้องมีผ้าปิดจมูก มลภาวะทางอากาศอย่างเดียวก็คือควันไฟไล่ยุง ซึ่งก็ไม่ร้ายกาจเท่าควันดำจากท่อไอเสียรถยนต์

คุณอาจจะคิดว่าไม่มีแล้วชีวิตอย่างนั้น ใคร ๆ เขาก็รู้ (ทัน) แต่...คุณคิดผิด ชีวิตอย่างนี้มีอยู่จริง “มะสะลุม” ได้มีโอกาสไปสัมผัสมาแล้ว ไม่ไกลเกินฝัน เพียงแค่ไปให้ถึงเชียงใหม่ (อีกแล้ว) เสียก่อน จากนั้นค่อยมานั่งคิดอีกทีว่าจะเดินไปหรือจะนั่งรถไป ถ้าคุณปีกกล้าขาแข็งพอจะเดินไป สักวันสองวันคงถึง แต่ถ้าไม่มีปัญญาเดินแบบ “มะสะลุม” (หมายความว่า “มะสะลุม” เองก็ไม่มีปัญญาจะเดิน ไม่ใช่เดินแบบ “มะสะลุม” ก็นั่งรถไปเถอะ เพลินเดียวก็ถึง)

เราใช้เส้นทางเชียงใหม่-จอมทอง จากนั้นก็ขึ้นดอยอินทนนท์ไปสักค่อนทางจะถึงทางแยกไปอำเภอแม่แจ่ม (ซึ่งตามความเห็นของ “มะสะลุม” ว่าเป็นเส้นทางที่โรแมนติกที่สุด โดยเฉพาะเวลาหมอกลง) เราก็แยกเลี้ยวซ้ายเสียดี ๆ หาไม่จะตรงขึ้นไปยอดดอย (ซึ่งไม่ใช่จุดหมายของเรา) ก่อนจะมีทางแยกขวามือเป็นถนนเล็ก ๆ เข้าบ้านแม่ปาน ขึ้นเนินเขาไปยัง “ชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่า” บ้านสันเกี๋ยง ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม นั่นคือที่หมายของเรา

ฟัง ๆ ดูไม่เห็นจะเป็นเรื่องเดียวกันกับที่พูดมาข้างต้นเลยใช่ไหมละครับ นั่นแหละอาจจะเป็นปัญหาต่อไปของกิจกรรมของชุมชนฯ นี้เพราะคนทั่วไปมักไม่รู้หรือไม่ได้สังเกตว่าที่ชุมชนฯ นี้มีที่ให้พักได้ด้วย (อันนี้เป็นเรื่องที่ชุมชนฯ จะต้องพิจารณาต่อไปว่าถ้าจะทำให้เป็นเรื่องเป็นราว ก็คงต้องยกป้ายหรือสัญลักษณ์ว่ามีที่พักให้เห็นชัดเจนเป็นระยะตั้งแต่ปากทาง) แต่พวกเรารู้เพราะว่า “คุณลุงบุญธันว์” ผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม (คุณบุญธันว์ มหาวรรณ์ ประธานอำนวยการโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า) ได้กรุณาชวน “มะสะลุม” “มะตะวอ” “เม้ยกุ๊ก” และ “สล่าวิศาล” ให้ไปเยี่ยมชุมชนฯ อีกครั้ง หลังจากที่ว่างเว้นมาเป็นปี (เดี๋ยวจะลืมชีวิตบนดอยซะหรอก)

“ชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่า” นี้ เป็นโครงการหนึ่งในโครงการพระเมตตาสมเด็จย่า ผู้ที่เข้ามาอยู่ในชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนชาวไทยภูเขา จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่ต้องเรียนรู้วิชาชีพสายสามัญ (ซึ่งสามารถนำไปสอบเทียบ กศน. ได้) และวิชาชีพเกษตรกรรมต่าง ๆ เมื่อจบแล้วต้องกลับไปใช้วิชาชีพที่เรียนมานี้เลี้ยงตัวเองและช่วยพัฒนาชุมชนบ้านเกิดไม่ใช่จบแล้วเข้าเมือง นับเป็นแนวคิดที่แปลกประหลาดไม่เหมือนใคร เพราะเป็นการสอนให้ทุกคนรู้จัก “เศรษฐกิจแบบพอเพียง” และ “การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน” ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ดังนั้น ชีวิตของนักเรียนในชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่าจึงเป็นการจำลองชีวิตจริงในหมู่บ้านแทบทุกอย่าง แม้แต่ที่พักก็เป็นเรือนมุงแฝกแบบเผ่า “ปกากะญอ” อันเป็นนักเรียนส่วนใหญ่ของที่นี่ แต่เห็นเป็นเรือนมุงแฝกอย่างนี้เถอะ เขามีชั้นเรียนคอมพิวเตอร์ด้วยนะ ไปเรียนกันที่เรือนคุณลุงชั้นล่าง (ใครอยากรู้รายละเอียดว่าวัน ๆ นักเรียนที่นี่เขาเรียนอะไร ทำอะไรกันบ้าง ลองกลับไปอ่านที่ “มะตะวอ” เล่าไว้ใน อ.ส.ท. ฉบับกันยายน ๒๕๔๖) อย่างไรก็ตามวันนี้เราไม่ได้ตั้งใจจะเล่าเรื่องชาวปกากะญอเขาทำอะไรกันในชุมชนการเรียนรู้สมเด็จย่า แต่จะมาแย่ง “ที่พักบนเส้นทาง” เล่าให้คุณฟังว่า ถ้าคุณได้มาพักที่นี่สักคืนสองคืนแล้วคุณจะมีชีวิตที่น่าอิจฉาอย่างไรมากกว่า ที่พักที่นี่ไม่ใช่ระดับแค่สี่ดาวห้าดาวนะ แต่เป็นระดับ “ล้านดาว” ทีเดียวจะบอกให้ เพราะในคืนฟ้าใสคุณจะสามารถนอนนับดาวล้านล้านดวงได้ที่นี่ “วิวอินทนนท์”

“วิวอินทนนท์” อยู่บนยอดเนินเขาของชุมชนฯ ด้านบนเป็นสนามราบเรียบสำหรับใช้กางเก็นท์ตั้งแคมป์ได้ มีเต็นท์สำหรับบริการให้เช่าพร้อมเครื่องนอนถึง ๗๐ หลัง มีลานแคมป์ไฟ ห้องน้ำและครัว (หมายถึงในบริเวณใกล้ ๆ นะ ไม่ใช่ในเต็นท์) หน้าหนาวอย่างนี้ถ้าได้นอนเต็นท์เล่นแคมป์ไฟจะน่ารื่นรมย์ขนาดไหน

แต่จะขนาดไหนก็เถอะ “มะสะลุม” นั้นหนุ่มเกินไปจึงเลือกที่พักบนกระท่อม “ปกากะญอ” ท่าจะเหมาะใจกว่า บ้านพักแบบปกากญอตอนนี้มีอยู่ ๔ หลัง หลังเล็กพัก ๒ คน ค่าเช่าคืนละ ๓๐๐ บาท หลังใหญ่พัก ๓ คน คืนละ ๕๐๐ บาท มองภายนอกแล้วคนอย่าง “มะสะลุม” ชอบใจมาก (แต่พวกที่คุณนายหน่อย ๆ อาจทำหน้าพิกลเมื่อแรกเห็น ครั้นพอได้พักจริง ๆ แล้ว ก็เห็นหัวร่อคิกคักกันทุกคน) เพราะเป็นกระท่อมที่แลดูพื้นบ้านที่สุด ตัวเรือนยกพื้นใต้ถุนสูง ฝาเป็นสาดลายอ่ำ หลังคามุงแฝกคุ้มต่ำ ทำให้รู้สึกอบอุ่นปลอดภัย (และไม่โป๊) มีระเบียงหน้าเล็ก ๆ (เล็กไปหน่อย) เอาไว้นั่ง ๆ นอน ๆ ชมดอยอินทนนท์ ถ้าเรือนหลังใหญ่ก็จะมีระเบียงข้างไว้เป็นที่นอนได้อีกหน่อยหนึ่ง

ห้องน้ำนั้นสนุกหน่อย คือต้องเดินลงกระไดเลียบใต้ถุนไปข้างหลังเรือน สะอาดสะอ้านวับ ๆ แวม ๆ ดี ใช้น้ำประปาภูเขา จึงได้ถูสบู่เล่นนานเป็นพิเศษ (แต่ถ้าหนาว ๆ ก็น่าดูเหมือนกัน) แต่ห้องนอนสิ “มะสะลุม” ชอบมาก เพราะเขามีผนังกั้นรอบประมาณครึ่งหนึ่งของความสูงส่วนช่วงบนเว้นไว้ใช้มุ้งลวดกรุ มองออกไปเห็นข้างนอก แต่ข้างนอกมองเข้ามาไม่เห็นเพราะมีชายคาบังอยู่ ความจริงแค่นี้ก็นอนได้สบายแล้ว แต่นอกจากฟูกและผ้าห่มแล้ว เขายังมีมุ้งไว้ให้กางอีก เป็นการกันยุงสองชั้น มิหนำซ้ำก่อนนอนยังมีบริการสุมไฟไล่ยุงจากใต้ถุนบ้านอีก (รู้สึกเหมือนตัวเป็นปลากรอบ สนุกดี) การกางมุ้งนอนตอนอากาศเย็น ๆ แล้วได้ห่มผ้าอุ่น ๆ อยู่ในเรือนหลังคามุงแฝกนี่เป็นความสุขที่สุด วันนั้น “บือคะ” หรือณรงค์ชัย รัตนย่อมงามดี น้องชายชาวปกากะญอ ได้มาช่วยสุมไฟทำปลากรอบ เอ๊ย...ไล่ยุง และดูแลเราเป็นอย่างดี ก่อนไปยังแถมไฟฉายให้ ๑ บ้อง เอาไว้คลำทางลงไปห้องน้ำยามดึกอีกด้วย

การนอนบนดอยนี่ตกดึกจะได้ยินเสียงต่าง ๆ ของป่าเขาขับกล่อม มีเสียงจักจั่นเรไรผสมกับเสียงน้ำตกไกล ๆ บางครั้งจะมีเสียงอะไรกุ๊ก ๆ อยู่ใต้ถุนบ้าน ปรากฏว่าเป็นเสียงพวกนกคุ่ม นกกระทา ออกมาหากิน (นี่ดีนะไม่มีเสียง “โฮก” ถ้าอย่างนั้นละก็เปิดแน่) นอนฟังกันเพลินจนหลับไป (หรือจะเป็นเพราะฤทธิ์ไวน์กับสเต็กของคุณลุงก็ไม่รู้)

พวกเรา (ยกเว้น “มะสะลุม”) ตื่นนอนกันแต่เช้า เพราะคุณลุงชวนไปดูพวกเด็ก ๆ เขาตำข้าว ทำอาหาร กินอาหารเสร็จก็ไปทำนา ทำไร่ ทอผ้า ปลูกผัก เพาะเห็ด เลี้ยงปลา กบ ไก่ หมู ฯลฯ เสร็จแล้วจึงแยกย้ายกันไปเรียนเหมือนเพลงที่เขาร้องให้ฟังว่า “ชุมชนอยู่บนเนินเขา จะมีเรื่องราวมาเล่าให้ฟัง ตื่นเช้ากันทุก ๆ วัน ช่วยกันทำงานเพื่อการเรียนรู้ของเรา บางคนเลี้ยงหมู ไก่ เป็ด บางคนเพาะเห็ด เลี้ยงปลา เราช่วยกันทำนา แล้วพากันไปทำสวน ทำไร่ ทุกวันพัฒนาจิตใจเพื่อนำไปสู่บ้านบนดอย...” (คุณลองถอดตัวสะกดออกให้หมดแล้วจะได้อารมณ์ดีมาก)

คุณลุงทำอาหารเช้าเลี้ยงเรา ทั้งยังให้คนไปซื้อปาท่องโก๋กับข้าวเหนียวปิ้งห่อละบาท จากตัวอำเภอแม่แจ่มขึ้นมาเลี้ยงจนอิ่มแปล้ มหัศจรรย์ไหมครับคุณ ข้าวเหนียวห่อละบาท ยังมีอยู่ในโลกนี้ที่แม่แจ่ม อำเภอเล็ก ๆ ที่มีอะไรต่ออะไรให้ดูมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ วันนั้นคุณลุงพาเราไปดูอะไรต่ออะไรในแม่แจ่มอย่างทะลุปรุโปร่ง เราไปแวะที่ “สหการ” ของชุมชนก่อน สหการเป็นร้านค้าอยู่ในอำเภอแม่แจ่มสำหรับให้นักเรียนชุมชนฯ ฝึกหัดค้าขาย มีของกินของใช้ขายในราคาย่อมเยา ที่เด็ดก็คือมีวิทยุ แว่นกันแดด และนาฬิกายี่ห้อดังขายด้วย นอกจากนั้นขณะนี้สหการยังขยายกิจการเปิดเป็นที่พักเล็ก ๆ สำหรับชาวดอยที่ลงมาติดต่อธุระในตัวอำเภอให้มีที่พักราคาถูกพอเหมาะสมกับกระเป๋า (หรือย่าม) ทั้งยังมีคลินิกบริการรักษาแบบแพทย์พื้นบ้านโดยพ่อหลวงอินตา วงศ์ใหม่ เป็นหมอเมืองชาวปกากะญออีกด้วย (ชื่อเดิมว่า “ปุ๊ชะป่า”) แต่ “มะสะลุม” ยังไม่ได้ลอง

ความจริงตั้งใจจะเล่าให้คุณฟังว่า ถ้าคุณมาพักที่ชุมชนฯ แล้วเข้ามาแอ่วแม่แจ่มจะได้อีกอารมณ์หนึ่ง คือจากอารมณ์ชาวดอยมาเป็นอารมณ์คนเมืองแบบดั้งเดิม อีกทั้งขนมเส้นน้ำเงี้ยวและข้าวซอยร้านพี่จันทร์ที่หน้าไปรษณีย์นะก็ “ลำ” เป็นที่สุด ผ้าทอมือ ผ้าตีนจกฝีมือเลื่องชื่อก็หาซื้อหาปันได้ไม่ยาก ออกไปนอกเมืองหน่อยจะเห็นนาขั้นบันได และอีนายอ้ายน้อยเล่นน้ำเหมืองกันอย่างม่วนอ๊กม่วนใจ๋ ทั้งยังมีวัดเก่า ๆ แบบล้านนาที่น่าสนในหลายวัด เช่น

“วัดกองกาน” ที่มีวิหารหลวง ประดิษฐานพระเจ้าตนหลวงอันศักดิ์สิทธิ์

“วัดกองแขก” มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่คอสองของวิหารหลวง เป็นภาพเขียนสีออกลายครามที่เป็นกระหนกเปลวสะบัดปลายแปลกตากว่าสกุลช่างล้านนาตามปกติ (อาจเป็นเพราะแต่เดิมชาวกองแขกมาจากที่อื่น ได้รู้เห็นศิลปะของคนบ้านอื่นเมืองอื่นมาก็ได้... อันนี้ “มะสะลุม” สันนิษฐานเอง)

“วัดป่าแดด” มีจิตรกรรมฝาผนังล้านนาสกุลช่างไทยใหญ่ที่วิหารหลวงงดงามมาก ตัววิหารเองก็มีรูปแบบที่น่าสนใจไม่น้อย ทั้งหอธรรมหลังเก่าก็งามแปลกตา

“วัดยางหลวง” มี “คิชฌกูฏ” หรือกู่ที่มีลักษณะคล้ายซุ้มโขงครึ่งซีกปั้นติดอยู่กับผนังวิหารหลวงหลังพระประธานเป็นสิ่งก่อสร้างที่หาดูได้ยากมากแม้ในดินแดนล้านนาเอง

“วัดพุทธเอ้น” มีโบสถ์กลางน้ำเป็น “อุทกสีมา” และบ่อน้ำทิพย์ ฯลฯ

ทั้งคุณลุงยังหลอกพวกเราไปย่ำโคลนเดินป่าไปดูชีวิตกระเหรี่ยง (ปกากะญอ) “บ้านถวน” ซึ่งเป็นบ้าน “ลัวะ” โบราณอีกด้วย (เลยไปเจอพ่อหลวงปุ๊ชะป่าเข้าอีก แกเป็นผู้ใหญ่บ้านหรือพ่อหลวงที่นั่น แกปลูกสมุนไพรไว้เป็นสวนเชียว)

แต่ครั้นเอาเข้าจริง “มะสะลุม” ก็เพิ่งจะรู้ว่า เรื่องเหล่านี้เล่าในคอลัมน์เล็ก ๆ ไม่พอเสียแล้ว เพราะหน้ากระดาษจำกัด ทั้ง “มะสะลุม” ก็มัวแต่ไปละเมอเพ้อพกกับชีวิตติดดินที่บ้านบนดอยเสียมากมาย เรื่องของแม่แจ่มสงสัยจะต้องเอาไว้คุยกันในโอกาสต่อไป แต่คงต้องเว้นระยะให้แนบเนียนหน่อยนะ เดี๋ยวคนเขาจะหาว่าชาวแม่แจ่ม “เส้นใหญ่” เดี๋ยวก็ “มะตะวอ” เดี๋ยวก็ “มะสะลุม” รุมกันเขียนถึงอยู่นั่นแหละ

สนใจที่พัก “วิวอินทนนท์” ช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคม ติดต่อที่ โทรศัพท์ ๐ ๕๓๒๖ ๘๖๖๖ ส่วนช่วงอื่น ๆ ติดต่อที่โทรศัพท์ ๐ ๕๓๔๘ ๕๔๔๓ หรือ ๐ ๕๓๒๖ ๘๖๖๗ ได้ตลอดปี


ที่มา : อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๗

Credit: องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (www.osotho.com)


No comments:

Post a Comment