หัวอกพ่อ
จักริน กิตติสาร...เรื่องและภาพ
Jawfish เป็นปลาในตระกูล Opistognathidae ซึ่งพบได้ทั่วไปในทะเลแถบเอเชียแปซิฟิก ที่มาของชื่อ Jawfish นั้น มาจากลักษณะเด่นประจำตัว คือกรามที่กว้างใหญ่ ซึ่งตัวผู้จะใช้เป็นที่เก็บไข่ไว้ภายหลังการผสมพันธุ์ จากคุณลักษณะพิเศษในการสืบพันธุ์นี้เอง ทำให้ Jawfish เป็นปลาที่แปลกและน่าศึกษาพันธุ์หนึ่ง และได้กลายเป็นขวัญใจช่างภาพใต้น้ำหลาย ๆ คนทีเดียว
เราสามารถพบ Jawfish ในแถบทะเลอันดามันบ้านเราบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์และสิมิลัน ซึ่งอยู่ค่อนข้างลึก หน้าตา Jawfish ดูพื้น ๆ ไม่สวยงามสักเท่าไหร่ บางทีก็มีสีเหลืองทั้งตัว แต่หนึ่งในสายพันธุ์ที่มักจะได้รับเกียรติเป็นดาราหน้ากล้องอยู่เป็นประจำ คือ Goldspecs Jawfish ซึ่งมีดวงตาสีทองกลมโตสวยงาม พบได้ในแถบทะเล Celesces ของประเทศอินโดนีเซีย เช่น แถบหมู่เกาะเดราวัณ (Derawan) และแซงกาลากิ (Sangalaki) บริเวณ East Kalimantan ที่นั่นเราจะหา Jawfish ได้ง่ายมาก แต่ที่ท้าทายช่างภาพใต้น้ำและถือเป็นช็อตที่ยากกันที่สุดคือ ทำอย่างไรจะถ่ายภาพ Jawfish อมไข่ ต่อเนื่องมาถึงตอนที่กำลังพ่นไข่ได้นั่นเอง
สำหรับที่เดราวัณนั้น การหา Goldspecs Jawfish ไม่ยากเลยครับ แค่ดำดิ่งลงไปบนพื้นทรายที่ทับถมด้วยซากปะการังหัก ๆ สัก ๕-๑๐ เมตร ก็จะเห็นรูบนพื้นทรายกว้างสักนิ้วครึ่ง แต่ละรูมีระยะห่างกันพอควร นั่นแหละครับบ้านของพวกเขา เมื่อพบรูของ Jawfish แล้ว ทีนี้โจทย์ต่อไปคือ จะทำอย่างไรให้ได้ภาพ Jawfish กำลังอมไข่ หรือพ่นไข่ ก่อนอื่นเราต้องรู้จักธรรมชาติการผสมพันธุ์ของพวกเขากันก่อน สำหรับธรรมชาติและลักษณะนิสัยของ Jawfish นี้ Mr. Yoshi Hirata ช่างภาพญี่ปุ่นชื่อดัง ได้ค้นคว้าศึกษาเรื่องธรรมชาติของปลาต่าง ๆ รวมถึง Jawfish มาโดยละเอียด และได้ให้ความรู้ในเรื่องนี้ว่า โดยปกติคู่บ่าวสาว Jawfish จะผสมพันธุ์กันก่อนขึ้น ๑๕ ค่ำ ซึ่งเป็นคืนที่พระจันทร์เต็มดวง ประมาณ ๓-๔ วันภายหลังจากการผสมพันธุ์ ตัวผู้จะค่อย ๆ อมเอาไข่ที่ผ่านการผสมแล้วมาไว้ในปาก จากนี้ภาระหน้าที่หลักก็จะตกไปอยู่กับตัวผู้ ซึ่งได้กลายเป็นว่าที่คุณพ่อไปเสียแล้ว
ผมได้ไปเยี่ยมบ้านของว่าที่คุณพ่อช่วงหลังพระจันทร์เต็มดวงไปแล้ว ๒-๓ วัน สักประมาณตีห้าครึ่งของทุกวัน เพื่อทำความสนิทสนม ผมต้องรอจนว่าที่คุณพ่อเผลอถึงค่อย ๆ ขยับเข้าไปใกล้ ๆ พอผมขยับเข้าไปก็ผลุบหัวหายไปในรูอีก เพราะ Jawfish เป็นสัตว์ที่ไม่อาวุธสำหรับต่อสู้ป้องกันตัวเองเลย ได้แต่หลบลงรูเวลาที่มีศัตรูเข้ามาใกล้ ๆ แถมบางครั้งเวลาที่ออกมาหากินข้างนอกบ้านก็จะถูก Jawfish เพื่อนบ้านสวมรอยแย่งบ้านไปอีก จนอดีตเจ้าของบ้านกลายเป็น Jawfish เร่ร่อน ต้องไปหาหรือสร้างบ้านใหม่กันต่อไปพอถึงแรม ๕ ค่ำ ผมก็สังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของไข่นับร้อยในปากของว่าที่คุณพ่อจากวันแรกที่เป็นสีเหลืองอร่าม ตอนนี้กลายเป็นก้อนใส แล้วมีจุดสีดำ ๆ เคลื่อนไวไปมาอยู่ภายใน พอตีสี่สี่สิบห้า ว่าที่คุณพ่อก็กลายเป็นคุณพ่อในที่สุด ลูก ๆ ค่อย ๆ พาตัวเองปลิวเป็นสายขึ้นมาจากปากคุณพ่อที่พยายามพ่นออกมาอย่างสุดกำลัง วินาทีนี้ใครที่ถ่ายวีดีโอไว้ นับว่าเป็นช็อตที่ได้ใจจริง ๆ
ครับ...เพียงแค่ไม่กี่นาทีผ่านไป ภาพของการก่อกำเนิดชีวิตใหม่ ๆ อีกนับร้อยก็สิ้นสุดลง...คุณพ่อ Jawfish ที่ดูท่าหมดแรงก็ค่อย ๆ พาตัวเองกลับลงไปพักผ่อนในรูทรายช่างภาพอย่างพวกผมก็ค่อย ๆ ทยอยพาตัวเองขึ้นสู่ผิวน้ำท่ามกลางแสงอาทิตย์ที่เริ่มสาดส่องลงมา ท่ามกลางฝูงปลาที่เริ่มออกว่ายเวียนหากินยามเช้า สองมือผมก็ถือกล้องไว้เป็นมั่นคง เพราะสิ่งที่บันทึกอยู่ภายในนี้คือภาพวินาทีแห่งการก่อกำเนิดที่แสนคุ้มค่ากับการรอคอยมาเสียหลายวัน...ในใจก็นึกขอบคุณ Mr. Yoshi Hirata ช่างภาพชื่อดังชาวญี่ปุ่น ที่ได้ให้คำแนะนำต่าง ๆ จนได้ภาพนี้
ภาพชุด Jawfish กำลังพ่นไข่
ผมบันทึกด้วยกล้อง Fuji S5 Pro พร้อมเลนส์ Nikon ๗๐-๑๘๐ มิลลิเมตรใส่ใน Housing ของ Nexus และใช้ไฟแฟลช INON Z-240 จำนวน ๒ ดวง พร้อมไฟส่องหาโฟกัส Fix Mini Led โดยปรับช่องรับแสง ๑๑ และความไวชัตเตอร์ ๑/๑๒๕ วินาที
ที่มา : อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๐
Credit: องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (www.osotho.com)
No comments:
Post a Comment