ผลงานอันทรงคุณค่า ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่หออัครศิลปิน
สายสุนีย์ สิงหทัศน์...เรื่อง อาทิตย์ จั่นเทศ...ภาพ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเอตทัคคะทางศิลปะหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นด้านการดนตรีและการพระราชนิพนธ์เพลง ด้านทัศนศิลป์และด้านวรรณศิลป์ ฯลฯ จนเป็นที่ประจักษ์ชัดถึงพระปรีชาสามารถอันหาที่เปรียบมิได้ในหมู่พสกนิกรและศิลปินทั่วโลก คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีศิลปะอันเลอเลิศ” หรือ “ผู้เป็นใหญ่ในศิลปิน” แด่พระองค์ท่าน เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๙ และนี่คือที่มาของหออัครศิลปิน แหล่งการเรียนรู้และขุมทรัพย์ทางปัญญา
หออัครศิลปินตั้งอยู่ที่ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เป็นสถานที่ที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสที่ทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี โดยใช้ที่ราชพัสดุในความดูแลของกรมศิลปากร บนพื้นที่ ๕ ไร่ เป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบไทยร่วมสมัยที่ประยุกต์จากสถาปัตยกรรมไทยประเพณี ตัวอาคารประกอบด้วยอาคารหลัก ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการพระราชประวัติและผลงานศิลปะฝีพระหัตถ์ขององค์อัครศิลปิน รายล้อมด้วยอาคารรูปตัวยูที่จัดแสดงนิทรรศการประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ ภายใต้แนวคิด “อัครศิลปิน รายล้อมด้วยศิลปินแห่งชาติ ซึ่งพระองค์ทรงให้การอุปถัมภ์”
หออัครศิลปินเป็นอาคาร ๓ ชั้น แบ่งออกเป็น ๗ ห้อง ประกอบด้วยห้องบริหาร ๑ ห้อง ห้องนิทรรศการชั่วคราว ๑ ห้อง ห้องนิทรรศการถาวร ๕ ห้อง จัดแสดงนิทรรศการพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะและวัฒนธรรมของอัครศิลปิน ๓ ห้อง โดยใช้สื่อผสมที่ทันสมัย เช่น วีดิทัศน์ คอมพิวเตอร์ มัลติมีเดีย วิดีโอซีดี ภาพดูราแทน ไดโอรามา คาราโอเกะ ตู้ถ่ายสติกเกอร์ และสไลด์มัลติวิชัน
ห้องที่สำคัญที่สุดคือ ห้องอัครศิลปิน ซึ่งมีอยู่ ๒ ห้อง บนชั้นที่ ๒ และชั้นที่ ๓ ห้องชั้นที่ ๒ ประดิษฐานบุษบกไม้ประดับกระจกปิดทองตรงกึ่งกลางห้อง ภายในบุษบกประดิษฐานพระราชลัญจกรประจำองค์รัชกาลที่ ๙ จำลองบนพานแว่นฟ้า เป็นเสมือนตัวแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฐานโดยรอบมีสื่อวีดิทัศน์แสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจจำนวน ๙ ตอน โดยใช้สื่อคอมพิวเตอร์ระบบสัมผัส กล่าวคือ เมื่อผู้เข้าชมคุกเข่าตามจุดต่าง ๆ เครื่องจะทำงานโดยอัตโนมัติ ฉากหลังเป็นจิตรกรรมฝาผนังเรื่องไตรภูมิ ด้านซ้ายและด้านขวาเป็นกระจกแกะลายเทพชุมนุม ผู้ทรงเปรียบประดุจสมมติเทพ
บริเวณโดยรอบแสดงพระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมทั้ง ๙ ด้านของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เช่น ด้านภูมิสถาปัตยกรรม จัดแสดงบริเวณด้านซ้ายของห้อง นำเสนอด้วยสื่อวีดิทัศน์และภาพพระราชกรณียกิจหลากหลายโครงการ ด้านหัตถกรรมนำเสนอพระปรีชาสามารถในการสร้างเรือใบซูเปอร์มด ด้านวรรณศิลป์และวาทศิลป์ จัดแสดงผลงานพระราชนิพนธ์ต่าง ๆ โดยผ่านสื่อวีดิทัศน์ ภาพพลิก ๓ มิติประกอบเสียง ด้านจิตรกรรม ประติมากรรม และด้านการถ่ายภาพ จัดแสดงผลงานฝีพระหัตถ์
ส่วนห้องอัครศิลปินที่อยู่บริเวณชั้นที่ ๓ เป็นการแสดงพระอัจริยภาพด้านคีตศิลป์และการพระราชนิพนธ์เพลง โดยเน้นการนำเสนอด้วยระบบเสียงและภาพที่สมบูรณ์แบบ ประกอบด้วยตู้จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ขณะทรงดนตรีขนาดใหญ่ ตรงกลางห้องเป็นการฉายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในพระอิริยาบถต่าง ๆ บนเพดานโค้ง เวทีการแสดงขนาดย่อม จอฉายภาพยนตร์ และตู้แสดงของใช้ส่วนพระองค์
นอกจากห้องอัครศิลปินทั้ง ๒ ห้อง ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงผลงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังมีนิทรรศการที่จัดแสดงประวัติและผลงานอันล้ำค่าของศิลปินแห่งชาติที่น่าศึกษาจำนวน ๑๕๑ ท่าน ในรูปแบบนิทรรศการภาพและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ถ่ายทอดผลงานและภูมิปัญญาของศิลปินแห่งชาติทั้ง ๔ สาขา คือ สาขาวรรณศิลป์ ศิลปการแสดง ทัศนศิลป์ และสถาปัตยกรรม และแต่ละสาขายังแยกย่อยออกเป็นอีกหลายด้าน ตัวอย่างเช่น สาขาศิลปการแสดง มีทั้งด้านดนตรีไทย ด้านนาฏศิลป์ ด้านคีตศิลป์ ด้านดนตรีพื้นบ้าน ด้านเพลงลูกทุ่ง ขับร้อง นักแต่งเพลง ด้านนักพากย์และนักแสดง และด้านภาพยนตร์ ฯลฯ นับเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญและทรงคุณค่ายิ่งของไทย ดังพระราชดำรัสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีที่ว่า “ผลงานของศิลปินแห่งชาติเป็นมรดกทางศิลปะอันล้ำค่าของชาติ เป็นเครื่องหมายแสดงอารยธรรมอันสูงส่งของชาติไทย ควรแก่การภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ”
ผู้สนใจเข้าชมหออัครศิลปินสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทรศัพท์ ๐ ๒๙๘๖ ๕๐๒๐-๔ โทรสาร ๐ ๒๙๘๖ ๕๐๒๐ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ เวลา ๐๙.๓๐-๑๖.๐๐ นาฬิกา
ขอขอบคุณ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ข้อมูลการเขียน
๑. สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. หออัครศิลปิน แหล่งการเรียนรู้และขุมทรัพย์ทางปัญญา สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภา, ๒๕๔๖.
๒. “หออัครศิลปิน”. วิทยุสราญรมย์ ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๒๑ ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๔๖, หน้า ๒๔-๓๓.
๓. คุณอนุกูล ใบไกล
ที่มา : อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๗
Credit: องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (www.osotho.com)
No comments:
Post a Comment