พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ศูนย์รวมการเรียนรู้ด้านการเกษตรไทย
สายสุนีย์ สิงหทัศน์...เรื่อง อิทธิพล พุฒิโภคิน...ภาพ
พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นหนึ่งในโครงการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดตั้งขึ้นภายในพื้นที่ ๕๐๐ ไร่ เพื่อเป็นสถานที่เผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในด้านการเกษตร ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก รวมทั้งเพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมความรู้เกี่ยวกับการเกษตรทั้งภาครัฐและเอกชน ในลักษณะศูนย์รวมการเรียนรู้
ลักษณะของอาคารพิพิธภัณฑ์ที่ได้จัดสร้างขึ้น เป็นอาคารหลังคาทรงปั้นหยา ศิลปสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ ประกอบด้วยอาคาร ๙ หลัง มีความหมายถึงรัชกาลที่ ๙ หลังคาสีเหลืองทอง หมายถึงสีในวันพระราชสมภพ ซึ่งตรงกับวันจันทร์ และหลังคาที่เชื่อมต่อตัวอาคารเป็นสีเขียว หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร ส่วนการจัดกิจกรรมนั้น มีแนวคิดให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว สัมผัสได้ ผู้เข้าชมสามารถรับความรู้ เกิดความรู้สึกร่วมและได้รับความเพลิดเพลินในเวลาเดียวกัน โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น ๒ รูปแบบ คือ กิจกรรมภายในอาคารและกิจกรรมภายนอกอาคาร นำเสนอเรื่องราวด้วยการจัดจำลองสถานที่นั้น ๆ ให้มีบรรยากาศที่สอดคล้องกับหัวข้อที่จัดแสดงได้อย่างน่าสนใจ เช่น การจำลองสภาพระบบนิเวศต่าง ๆ และการนำเสนอด้วยเทคนิคเมจิกวิชั่น เพื่อให้ผู้เข้าชมเกิดความรู้สึกว่า นิทรรศการเหล่านั้นมีชีวิตและเสมือนกับว่าได้เข้าไปอยู่ท่ามกลางบรรยากาศหรือยุคสมัยนั้นจริง ๆ
กิจกรรมภายในอาคารเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งถือว่าเป็นอาคารที่สำคัญที่สุด มีการจัดแสดงนิทรรศการทั้ง ๓ ชั้น นำเสนอเรื่องราวทางการเกษตร ผ่านเทคโนโลยีอันทันสมัย เป็นการถามตอบ การให้ข้อมูลผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ การนำเสนอด้วยเทคนิคเมจิกวิชั่น การจัดแสดงเรื่องราวประกอบแสงเสียง ภาพและหุ่นจำลอง เนื้อหาหลักเป็นเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับงานด้านการเกษตรทุกด้าน แบ่งเป็นโซน ๆ ชั้นที่ ๑ เป็นการจำลองรูปแบบพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และการจัดแดงพิธีกรรมเกี่ยวกับเรื่องข้าว รวมทั้งการจำลองวิถีชีวิตเกษตรกรไทย ๔ ภาค ชั้นที่ ๒ เป็นเรื่องโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เช่น ศูนย์การพัฒนาห้วยฮ่องไคร้-ภูพาน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง เขาหินซ้อน และแนวพระราชดำริการทำเกษตรผสมผสานและการปลูกพืชหมุนเวียน ฯลฯ และชั้นที่ ๓ เป็นกิจกรรมการแสดงและกิจกรรมไหมไทย นอกจากนั้นในแต่ละปีกของอาคารยังมีการจัดแสดงแยกออกไปเป็นเรื่องของอาคารอำนวยการ ศูนย์อาหาร อาคารพัฒนาที่ดิน อาคารพัฒนาป่าไม้ อาคารการประมง อาคารระบบนิเวศ อาคารปศุสัตว์ และอาคารประชุมสัมมนา
ส่วนกิจกรรมภายนอกอาคาร เป็นการแสดงกิจกรรมการเกษตรกลางแจ้ง ซึ่งมีทั้งการแสดง การสาธิต การทดลองวิจัย กิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจและการเข้าร่วมกิจกรรมของผู้เข้าชมซึ่งมีให้เลือกหลายรูปแบบ เช่น สาธิตการปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ยืนต้นและไม้ล้มลุก การจำลองสภาพป่า พื้นที่การทำสวน สาธิตการปลูกพืชไร่ สภาพการเลี้ยงสัตว์ สภาพที่ดินก่อนการพัฒนาและการปฏิรูป สภาพทะเลไทยและองค์ประกอบรอบข้าง ความเป็นอยู่ของเกษตรกรและการแสดงสาธิตวิธีการทำนา กิจกรรมเหล่านี้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะ มีการเข้าค่ายอบรมทั้งด้านการเกษตร ค่ายวิทยาศาสตร์ ท้องฟ้าจำลอง การแสดงทางวิทยาศาสตร์และการฝึกอบรมประชุมสัมมนาวิชาการ ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริหารพิพิธภัณฑ์ฯ กิโลเมตรที่ ๔๖-๔๘ ถนนพหลโยธิน อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โทรศัพท์ ๐ ๒๕๒๐ ๓๒๐๘-๙ ซึ่งจะเปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา ๙.๐๐-๑๕.๓๐ นาฬิกา หยุดวันจันทร์และวันนักขัตฤกษ์ โดยไม่เสียค่าเข้าชม
พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติฯ ศูนย์รวมการเรียนรู้ด้านการเกษตรแห่งนี้ นับเป็นสมบัติอันล้ำค่าของแผ่นดิน ที่คนไทยทุกคนควรหาโอกาสไปชม เพราะนอกจากจะได้รับความรู้เรื่องการเกษตรของไทยตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบันแล้ว ยังจะได้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน สมดังที่ชาวไทยพร้อมใจกันยกย่องพระองค์ท่านว่าทรงเป็น “กษัตริย์เกษตร” และเนื่องจากวันที่ ๕ ธันวาคมอันเป็นวันพระราชสมภพได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกวาระหนึ่ง จึงขออัญเชิญพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ใต้พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ตั้งอยู่ ณ ห้องโถงทางเข้าอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ ที่ทรงไว้ว่า
กษัตริย์เกษตร
พระเอยพระทรงชัย
สุขยิ่งใหญ่ได้สนอง
ใต้เบื้องบาทละออง
ธุลีไท้รำลึกพระคุณ
ขอถวายทั้งบุปผา
บูชาแด่พระการุณย์
เทียนธูปอันวิบุลย์
มนัสมอบมโนถวาย
น้อย
๕ ธ.ค. ๒๕
...................................................................................
ข้อมูลการเขียน
๑. “กษัตริย์เกษตร” หนังสือที่ระลึกงานเปิดพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๕
๒. สูจิบัตร พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ
๓. คุณวารณี ภู่รจนา
๔. คุณปิยนุช รัตนวรรณี
ที่มา : อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๕ เดือนธันวาคม ๒๕๔๘
Credit: องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (www.osotho.com)
No comments:
Post a Comment