สีสันและความตระการตาของกระบวนพยุหยาตราชลมารค
นพดล กันบัว...เรื่องและภาพ
หลังจากที่ขึ้นเหนือลงใต้นำภาพหลายแบบหลายบรรยากาศมาฝากท่านผู้อ่าน แฟน ๆ ของคอลัมน์ “หลังกล้องท่องเที่ยว” หลายต่อหลายฉบับที่ผ่านมา ฉบับนี้จึงขอนำภาพครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งนาน ๆ เราจะมีบุญตาได้ชมกันสักครั้ง ถึงความยิ่งใหญ่ความตระการตาของกระบวนพยุหยาตราชลมารค ที่กองทัพเรือได้จัดขึ้นมา หลาย ๆ ท่านที่ชอบการถ่ายภาพก็คงได้บันทึกภาพเก็บไว้เพื่อเป็นประวัติศาสตร์ของตัวเองหรือเพื่อเก็บไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ชมกัน
สถานที่และมุมกล้อง ข้อนี้ค่อนข้างสำคัญมากว่าใครจะได้มีโอกาสอยู่มุมไหน เท่าที่เห็นมุมที่ถ่ายภาพออกมาแล้วค่อนข้างดีก็คงเป็นบริเวณกรมอู่ทหารเรือ เพราะจะได้ฉากหลังที่เป็นวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง ซึ่งดูสอดคล้องเข้ากันได้ดีระหว่างกระบวนเรือและฉากหลัง แต่สถานที่แห่งนี้เป็นเขตหวงห้าม ผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือประชาชมทั่วไปจึงไม่มีโอกาสเข้าไปถ่ายภาพที่มุมนี้
อุปสรรคของการถ่ายภาพครั้งนี้ ก็คือสายน้ำที่ไหลค่อนข้างแรง ทำให้กระบวนเรือเคลื่อนที่เร็วไปหน่อย แต่ละลำห่างกันมาก สภาพแสงก็ไม่ค่อยเอื้ออำนวยต่อการถ่ายภาพเท่าไรนัก โดยเฉพาะเวลาไม่มีแดด เรือส่วนใหญ่ซึ่งมีลวดลายเป็นสีทองก็จะดูขาวซีดไม่มีลายทองเลย ต่างกับเวลามีแดด สีทองของเรือจะสุกเป็นประกาย สีต่าง ๆ ของเสื้อผ้าทหารที่เป็นฝีพายก็จะสดสวยน่าชมเป็นอย่างยิ่ง
มุมที่ผมถ่ายภาพนี้ ก็คือบนเครน ซึ่งยกสูงพอสมควร เพื่อจะได้มุมที่แปลกออกไป อยู่บริเวณกรมยุทธศึกษาทหารเรือ กระบวนเรือกลับลำและตั้งกระบวนอยู่หน้าวัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร และเลยไกลออกไปตามลำดับไกลจากจุดที่ถ่ายภาพอยู่พอสมควร ผมใช้เลนส์ ๘๐-๒๐๐ ใช้ซูมช่วง ๒๐๐ เพื่อต้องการที่จะดึงเรือลำที่อยู่ไกลออกไปให้ดูเหมือนใกล้กัน (เป็นคุณสมบัติของเลนส์เทเลโฟโต้ซึ่งผมเคยเขียนไว้ในเล่มก่อน ๆ แล้ว)
เรื่องการวัดแสงนั้น ยุ่งยากอยู่เหมือนกัน เพราะสภาพแสงที่ไม่ค่อยจะคงที่ เดี๋ยวมีแดด เดี๋ยวไม่มีแดด ค่าแสงจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราถ่ายกันเพลินไป ก็คงจะได้ทั้งภาพอันเดอร์และโอเวอร์ และผมก็ใช้กล้องถ่ายภาพหลายตัวด้วยกัน กล้อง HASSELBLAD ซึ่งไม่มีเครื่องวัดแสงในตัวยิ่งทำให้เรายุ่งยากเข้าไปอีก ปกติแล้วผมจะใช้กล้องตัวเล็กวัดแสง ได้ค่าเท่าไรก็นำเอาค่าแสงนั้นมาถ่ายกล้อง HASSELBLAD ซึ่งสะดวกและรวดเร็วกว่าการใช้เครื่องวัดแสงแบบมือถือ
และอยากจะขอแนะนำไว้สักเล็กน้อย สำหรับท่านที่ชอบการถ่ายภาพ โดยเฉพาะถ้าถ่ายด้วยฟิล์มสไลด์ การวัดแสงถือได้ว่าเป็นหัวใจของการถ่ายภาพก็ว่าได้ ทุกครั้งที่กดชัตเตอร์ ควรดูค่าการวัดแสงในกล้องทุกครั้ง เพื่อให้เกิดความเคยชิน ปฏิบัติให้เป็นนิสัย และต่อไปถ้าเจอสภาพแสงที่ไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ท่านก็สามารถถ่ายภาพได้โดยไม่ต้องกลัวผิดพลาด
และภาพที่นำมาลงให้ชมกันนี้ ถ่ายตอนซ้อมครั้งแรก วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๓๙ ใช้ฟิล์มฟูจิ เวลเวีย ๕๐ ใช้ขาตั้งกล้อง เพราะต้องการหน้ากล้องแคบ ใช้ได้แค่ F-8 ความเร็วชัตเตอร์ ๑/๖๐ ผมไม่กล้าใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่านี้เพราะเกรงว่าเรือจะไหว ซึ่งหลาย ๆ ภาพก็ไหวอย่างที่กล่าวมา บางภาพก็พอจะใช้งานได้เหมือนอย่างภาพที่นำมาลงให้ชมกัน
ข้อมูลการบันทึกภาพ
สีสันและความงดงามของกระบวนพยุหยาตราชลมารค บริเวณหน้าวัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร บันทึกด้วยกล้อง NIKON F 90 S เลนส์ ๘๐-๒๐๐ มิลลิเมตร ความเร็วชัตเตอร์ ๑/๖๐ หน้ากล้อง F-8 ฟิล์มฟูจิ เวลเวีย ๕๐
ที่มา : อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ ๓๗ ฉบับที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๙
Credit: องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (www.osotho.com)
No comments:
Post a Comment